ความกังวลใจของผมกับ E-Payment

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ประเด็น Hot hit อันดับต้นๆของเรื่องการเงิน คงไม่เรื่องรัฐบาลจะประกาศพาประเทศไทยไปสู่ระบบ E-Paymentในเร็ววันนี้แน่ๆ

อันที่จริง เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สักวันนึงในอนาคตก็ต้องเกิดขึ้น ถ้าใครตามข่าว คงได้ข่าว Line pay จับมือกับ Rabbit นั่นหมายความว่า ในอนาคต การทำธุรกรรมแบบ E-payment คงจะเป็นเรื่อง worldwide ในไม่ช้า แต่ผมกลับรู้สึกกังวลกับเทคโนโลยีนี้ ไม่รู้จะดีใจหรือเสียใจดี แต่อย่างไรเสีย เรื่องนี้ดันไปดึงดูดรัฐบาลหลายๆประเทศ (รวมถึงไทย) เพราะมันทำให้รัฐบาลรู้ถึง statement การเงินของทุกคน และรายรับของร้านค้าทุกร้าน ทำให้สามารถจัดระบบภาษี และสวัสดิการได้ง่ายและทั่วถึงมากขึ้น

แล้วมันมีอะไรน่ากังวลละ?

อย่างแรก การใช้เงินจ่ายในระบบอิเล็กโทรนิก ทำให้คนเสียวินัยทางการเงินได้ง่ายขึ้น น่าแปลกนะครับ คนเราเมื่อมีบัตรเครดิต ทำให้เราสะดวกขึ้นหลายอย่าง แต่ก็ทำให้หลายคนเป็นหนี้บัตรเครดิตจนถอนตัวไม่ขึ้น แปลกแต่จริงว่า ยิ่งสะดวกมากเท่าไร ยิ่งเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวมากเท่าไร คนก็ให้ความสำคัญกับมันน้อยลงมากเท่านั้น

อย่างที่สอง มันจะทำให้คนทำผิดได้อย่างไม่รู้สึกผิดได้มากขึ้น
มีงานวิจัยหลายชิ้น ที่พบว่า เมื่อคนเราอยู่ต่อหน้าเงินสด เราจะซื่อสัตย์มากขึ้น แต่ยิ่งออกห่างจากเงินสดไปมากเท่าไร เราก็กลับทำผิดได้อย่างหน้าตาเฉย ยกตัวอย่างนะครับ

  • มีการทดลองนึง เอาโค้กกระป๋องใส่ไว้ในตู้เย็นส่วนกลางตามหอพักมหาวิทยาลัยต่างๆ พบว่า ไม่มีโค้กกระป๋องไหน อยู่รอดเกิน 72 ชม. เลย แต่เมื่อเอาเงินที่ราคาเท่ากับโค้กกระป๋องใส่ไว้แทน ปรากฏว่า ผ่านไปเป็นเดือน เงินก็ยังอยู่ดีไม่หายไปไหน
  • อีกการทดลองนึง ให้นักศึกษาทำข้อสอบ แล้วเปิดโอกาสให้นักศึกษาโกงข้อสอบได้ ซึ่งนักศึกษาจะได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนข้อสอบที่ตอบถูก ปรากฏว่านักศึกษาโกงเฉลี่ยกันคนละ 2.7 ข้อจาก 40 ข้อเท่านั้น และในนักศึกษา 2000 คน มีคนที่โกงไม่ยั้ง คือโกงจนตัวเองได้เต็มเพียง 4 คนเท่านั้น แต่เมื่อเปลี่ยนค่าตอบแทนจากเงินสดเป็นชิพ แล้วให้ชิพนั้นแลกเงินได้ภายหลัง พบว่านักศึกษาโกงเฉลี่ยคนละ 5.9 ข้อ และมีคนโกงไม่ยั้งถึง 24 คน จาก 450 คน
  • อีกการทดลองที่น่าสนใจคือ การทดสอบความซื้อสัตย์ของ Sale ในการนำใบเสร็จมาเบิกค่าใช้จ่าย พบว่า Sale ที่ต้องยื่นใบเสร็จผ่านธุรการ มีแนวโน้มที่จะแอบสอดแทรกใบเสร็จที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงานมากกว่า Sale ที่ต้องนำใบเสร็จมาเบิกเงินกับหัวหน้าโดยตรง

จะเห็นได้ว่า เมื่อยิ่งการทำธุรกรรมทางการเงินใดๆก็ตาม ยิ่งซับซ้อน และห่างไกลจากเงินสดไปมากเท่าไร คนก็ยิ่งรู้สึกผิดเมื่อทำความผิดน้อยลงเท่านั้น หรือไม่อย่างนั้น คนนั้นก็หาเหตุผลในการทำผิดได้ง่ายขึ้นอย่างน่าประหลาด ยังจำกรณีเอนรอนได้ไหมครับ ผู้ที่ทำให้เอนรอนล้มละลายอย่าง Jeffrey Skilling สามารถเอาเงินบำนาญของผู้คนไปละลายได้อย่างหน้าตาเฉยหลายล้านดอลล่า แต่การขโมยเงินใครสัก 100 เหรียญกลับเป็นเรื่องที่เค้าไม่เคยทำเลย เพราะฉะนั้นระบบ E-payment นอกจากจะทำให้การก่ออาชญากรรมทางการเงินเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้คนก่ออาชญากรรมได้อย่างไม่รู้สึกผิดเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรเสีย หากมีระบบการป้องกันที่ดี เรื่องนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น จริงไหม? ก็ถ้าระบบมันสมบูรณ์จริงๆก็คงป้องกันจากภายนอกได้ แต่จะรู้ได้ไงว่าภายในรัฐบาลเองไม่มีการโกง?

เรื่องนี้ จริงๆแล้วรัฐบาลก็ดำเนินการมาได้สักระยะแล้ว ยังจำบัตรเครดิตเกษตรกรได้ไหมครับ ร้านค้า และบริษัทต่างๆ ที่ติดตั้งเครื่องรูดบัตรเกษตรกรจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจให้ติดเจ้าเครื่องนี้ แต่พอติดแล้ว รัฐบาลก็สามารถเห็นรายรับของร้านค้านั้นได้อย่างละเอียด ผมมีเพื่อนคนนึงขายปุ๋ย มันได้กำไรจากการขายปุ๋ยถุงละ 30 บาท แต่กลับโดนเรียกภาษีจากปุ๋ยถุงละ 30% ซึ่งมากกว่ากำไรที่มันได้ซะอีก เมื่อถามไป คำตอบที่ได้ก็คือ เราเก็บอัตรานี้กันทั้งประเทศเป็นปกติอยู่แล้ว เล่นเอาเพื่อนผมอยากจะทุบเครื่องรูดเครดิตเกษตรกรทิ้งเลยทีเดียว

กรณีเรื่องที่เพื่อนผมโดนภาษีปุ๋ยนั้น ก็น่าคิดนะครับ ว่ารัฐบาลเองก็ติดกับดักจิตวิทยาเรื่องการเงินที่ไม่ใช่เงินสดเหมือนกันหรือเปล่า อย่าลืมนะครับว่า การเก็บภาษีเกินจริงเมื่อได้โอกาส หรือการขูดรีดบริษัทต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องถูกต้องเหมือนกัน แม้ว่าจะมีร้านค้าหรือบริษัทจะโกงภาษีมากเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำแบบนั้น แต่มันทำให้จากความรู้สึกผิด เป็นรู้สึกถูกเท่านั้นเอง

อีกกรณีก็อย่างเช่น เรื่องราคากลางของยา ที่ตามหลักการแล้วการกำหนดราคากลางควรจะนำราคากลางของโลกจริงๆมาคิด ไม่ใช่ไปหามาจากประเทศที่ขายยาถูกที่สุดในโลก (ตอนหลังมาก็มีความพยายามในการปรับราคาให้เป็นจริงมากขึ้นแล้ว ก็ขอชื่นชมในความพยายามนะครับ) เรื่องนี้เองรัฐบาลก็อ้างว่าต้องการให้ประชาชนเข้าถึงยาในราคาที่ถูก แต่ถ้าลองวิเคราะห์จริงๆแล้ว ราคากลางของยาจะกี่บาท คนที่จ่ายโดยตรงจริงๆคือรัฐบาล ดังนั้นหากยิ่งกดราคาได้ต่ำมากเท่าไร รัฐบาลก็ลดรายจ่ายด้านสาธารณสุขได้มากเท่านั้น ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องจริงๆคือ แทรกแซงราคายาในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่กดราคาให้ต่ำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แล้วรัฐบาลก็มาเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขแทน ไม่ใช่บอกกับตัวเองว่า ที่ทำไปก็เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ยาราคาถูก ซึ่งถ้าดูย้อนหลังไปจะรู้ว่าสาธารณสุขไม่ใช่กระทรวงที่ได้งบเยอะแยะอะไรเลย กระทรวงที่ได้งบเยอะจริงๆคือ กระทรวงศึกษาธิการที่ได้งบเพิ่มมาตลอด และช่วง 10 ปีหลังสุดได้งบในระดับประมาณ 20% ของ GDP หรือมากกว่านิดๆด้วยซ้ำ แต่เอาจริงๆแล้วเรากลับไม่เห็นอะไรที่ effective ในระบบการศึกษาของเราเลย ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐติดลบ งบการเงินเป็นสีแดงมาตลอด การที่รัฐบาลกดราคายาให้ถูกๆบางคนอาจจะคิดว่า แบบนี้ก็ดีนิ ไม่เห็นจะเป็นไรเลย ใช่ครับ จริงๆมันก็ดี แต่ตอนนี้มันส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศเราอย่างมาก ตอนนี้อุตสาหกรรมยาในประเทศเราอ่อนแอมาก โรงงานทุกโรงงานต้องตัดงบ R&D มาเพื่อกดราคายาให้ต่ำที่สุด ทำให้การวิจัยและพัฒนายาเราล้าหลังมาก เมื่อมีการบังคับระบบมาตรฐานใหม่ๆให้ทัดเทียมกับต่างประเทศเมื่อไร ก็จะมีข่าวโรงงานยาทยอยปิดตัวเงียบๆไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นบริษัทยาข้ามชาติก็ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ทำให้เราสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆจากองค์กรระดับชั้นนำของโลก ในขณะที่ตัวเลขการนำเข้ายาสูงลิ่วขึ้นเรื่อยๆทุกปี โรงพยาบาลเองก็เสี่ยงต่อการขาดยา เพราะถ้า margin มันต่ำมาก เวลาวัตถุดิบสักตัวมันขึ้นราคา สู้ทิ้งใบประมูลแล้วเสียค่าปรับยังคุ้มกว่าผลิตยาที่ขาดทุนส่งให้โรงพยาบาล อันนี้คือเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นนะครับ

แต่อย่างไรเสีย ผมก็เข้าใจรัฐบาลว่า ทำไมรัฐต้องเร่งรัดออกมาตรการนี้ ซึ่งจริงๆปัญหามันอยู่ที่ความล้มเหลวในระบบการจัดเก็บภาษีของไทย (มันล้มเหลวจริงๆนะครับ คนไทยมี 65 ล้านคน อยู่ในฐานภาษีแค่ 10 ล้านคน และเสียภาษีจริงๆแค่ประมาณ 2 ล้านคน) คนไทยหนีภาษีกันเยอะมาก หนีกันอย่างไม่รู้สึกผิด (ถ้าทฤษฎีที่ผมพูดถึงเป็นจริง สงสัยต้องแก้ปัญหาด้วยการเคาะตามบ้าน คิดบัญชีกันต่อหน้า แล้วจ่ายภาษีด้วยเงินสดเท่านั้น) แล้วอีกแค่ประมาณ 10 ปี เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ เราจะมีคนทำงานที่จ่ายภาษีไม่พอเลี้ยงผู้สูงอายุในประเทศแน่ๆ แต่เมื่อตัดสินใจทำแล้ว จะต้องทำอย่างไรถึงเพิ่มวินัยทางการเงินให้คนในชาติได้? จะป้องกันการก่ออาชญากรรมทางการเงินที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร? และจะป้องกันการทุจริตของตัวรัฐบาลเองได้อย่างไร?

credit-squeeze-522549_960_720


Share this:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *