เป็นกำลังใจให้น้องๆจบใหม่ที่ยังหางานไม่ได้นะครับ ส่วนนึงก็ต้องยอมรับว่า งานมันหายากกว่าแต่ก่อนจริงๆนั่นแหละ มันมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น
- มหาลัยปรับตัวตามตลาดแรงงานไม่ทัน เพราะโลกเปลี่ยนไว แต่มหาลัยใช้โมเดลเดิมๆคือ เรียนนาน แล้วใช้ยาวๆไปตลอดอายุการทำงาน ซึ่งมันไม่ค่อยเวิกแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไวมาก เดี๋ยวนี้ สกิลต้องรีบเรียนให้พอใช้งานได้ แล้วมาฝึกให้เก่งตอนทำงาน แล้วพอสัก 5-10 ปี ก็มา reskill ใหม่ เพราะสกิลหมดอายุไวมาก แต่มหาลัยเองก็มีปัญหา เพราะการหาผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ใหม่ๆไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างก่อนหน้านี้ 3-4 ปี เรารู้ว่า data science มา แต่มหาลัยก็เตรียมตัวไม่ทัน เพราะผู้เชี่ยวชาญยังมีน้อยมาก แต่มหาลัยก็ยังแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆด้วยการสร้างขึ้นมาเอง ส่งไปเรียนต่อ แต่กว่าจะพร้อมก็ตลาดวายแล้ว หรืออย่างตอนนี้ เรารู้ว่า AI มาแน่ แต่ผู้เชี่ยวชาญ AI ในไทยจริงๆ ยังมีไม่กี่คนด้วยซ้ำ แล้วน้อยคนมากๆที่จะเป็นอาจารย์มหาลัย
ในขณะที่คนที่ทำงานแล้ว ถ้าโชคดี จะได้ฝึก skill ใหม่ๆพวกนั้น ในระหว่างทำงานไปด้วยเลย อย่าง AI เชื่อว่าตอนนี้หลายที่ก็เริ่มนำ AI มาช่วย forcast เรื่องต่างๆ กันแล้ว ไม่ว่าจะการสั่งซื้อ ยอดขาย นั่นทำให้คนกำลังทำงานได้เรียนรู้ไปด้วย - แนวโน้มองค์กรทุกที่คือลดคน เพราะ digital transformation และมีโควิด19 เป็นตัวเร่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ลดทันทีแบบปลดคนออก แต่ลดแบบปล่อยคนเก่าเกษียณ แล้วไม่รับคนใหม่มาเติม ตัวอย่างองค์กรใหญ่ๆที่ใช้วิธีนี้อย่างเห็นได้ชัดคือ ข้าราชการ, SCB, การไฟฟ้า
จริงๆ digital transformation มีมานาน แต่มักนำร่องกับองค์กรชั้นนำก่อน เช่น CP เพราะว่าการลงทุนกับระบบอัตโนมัติใช้เงินลงทุนสูง สำหรับองค์กรที่ไม่ใหญ่มาก การจ้างคนจึงยังคุ้มกว่าอยู่ แต่พอ covid-19 มา เหมือนถูกบีบบังคับใช้เอา tech มาใช้แบบไม่มีทางเลือก - การเฟ้อของตลาดอุดมศึกษา เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เรามีประชากรเกิดปีละ 1 ล้านคน แต่มีที่นั่งในมหาลัยแค่ 4 หมื่นที่นั่ง ปัจจุบันประชากรเราเกิดแค่ปีละ 5-6 แสน แต่มีที่นั่งในมหาลัยเกือบ 3 แสนที่นั่ง (แต่มีคนเรียนจริงๆแค่ประมาณ 2 แสน) นั่นทำให้ทุกวันนี้ เราจะเห็นว่ามีงานที่ใช้วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีว่างเต็มไปหมด ไม่ว่า จะ ม.6 ปวช. ปวส. แต่งานของ ป.ตรี จริงๆกลับหายากกว่ามาก จนคนจบ ป.ตรี หลายคน ต้องยอมลดวุฒิไปทำงาน 7-11 บ้าง อะไรบ้าง
- ประเทศไทยไม่เกิดการย้ายงานครั้งใหญ่ ที่อเมริกา หลังจบ covid-19 เหตุการณ์นึงคือ คนลาออกจำนวนมหาศาล เพื่อย้ายงาน แต่ที่ไทยไม่เกิดเหตุการณ์นี้
- ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาเชิงโครงสร้าง บริษัทที่จ้างคนต่อยอดขายเยอะๆมักเป็นธุรกิจ SME แต่ SME ตายไปเยอะมาก พอไปดู SET100 ของไทย จะเห็นว่าบริษัทใน SET100 แทบไม่มี tech company เลย บ่งบอกว่า innovation ในไทยนั้นต่ำมาก แต่กลับมีแต่บริษัทที่ทำพวกโครงสร้างพื้นฐาน บ่งบอกว่าเรามีการผูกขาดมาก เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจดั้งเดิมขนาดใหญ่สูง ใช้ระบบเส้นสายและโครงสร้างทางกฏหมายให้บริษัทใหญ่ได้เปรียบ จนบริษัทเล็กๆที่ใช้ innovation สู้ แต่ไม่มีอำนาจด้านอื่นเสียเปรียบในการแข่งขันจนไม่สามารถก้าวมาเป็นบริษัทใหญ่ได้ อย่างไรก็ดี บริษัทใหญ่ในไทย ได้ใช้วิธีตัดหน่วยงานย่อยมาทำ innovation เองเพื่อความคล่องตัว แต่ถ้าเมื่อไรที่รู้ว่าสู้บริษัทเล็กๆไม่ได้ ก็จะชิงซื้อบริษัทเล็กๆก่อนจะโต ซึ่งบางทีซื้อมาก็ไม่ได้เอามาทำไร ซื้อมาดองก็เยอะ
- ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ตลาดในประเทศไม่โต (คนสูงอายุกินใช้ น้อยกว่าคนหนุ่มสาว พูดให้เห็นภาพ สมมติเราเปิดร้านข้าวในหมู่บ้านนึงที่มีสัก 100 คน ร้านเราขายได้วันละ 100 จาน ต่อมาหมู่บ้านนั้นไม่มีเด็กเกิดใหม่ มีแต่คนแก่ เราไม่มีทางขายได้วันละ 100 จาน เท่าเดิมแน่นอน) การทำให้ตลาดภายในโตต่อได้ ต้องโตด้วยแนวลึก คือหา innovation ใหม่ มาเพื่อให้เกิดตลาดใหม่ๆ แต่ปัญหาก็ย้อนกลับไปข้อที่แล้ว บริษัท เลือกใช้วิธีตีกินแนวกว้าง มากกว่าหาทางโตแนวลึก เพราะง่ายกว่า เห็นยอดชัดเจนกว่า (จริงๆในระบบบุคคลก็ทำกันแบบนี้นะครับ เพราะพอตลาดไม่โต มันทำให้รายได้เดิมมันเพิ่มยาก หลายๆคนที่มีความสามารถเลยเลือกที่จะหางานที่ 2 3 4 ทำเพิ่ม แต่นั่นก็ทำให้คนยังไม่มีงาน หางานยากขึ้นไปอีก)
นอกจากนี้ การกระตุ้นการบริโภคในประเทศที่รัฐบาลพยายามก็เรียกว่า ใช้จนกระสุนหมด ไม่ว่าโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน รวมถึงโครงการแจกเงินต่างๆ ที่รัฐบาลพยามเข็นมากระตุ้นการบริโภค ก็ใช้กันจนเกลี้ยงแล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามใช้จ่ายด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเทเงินลงไปให้เกิดการจ้างงาน แต่ก็ใช้จนสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เต็มเพดานแล้ว ดังนั้นกระสุน หมดแล้ว
พอการบริโภคในประเทศไม่โต ความหวังเราเลยอยู่ที่ภายนอก นั่งก็คือการส่งออก และท่องเที่ยว ซึ่งก็อย่างที่เห็น ท่องเที่ยวตายเรียบ แต่ส่งออกพึ่งมาฟื้นตอนค่าเงินบาทอ่อน
นอกจากนี้เด็กจบใหม่ยังมีความกดดันไม่ว่าจะเป็นค่าเทอมที่แพงขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แล้วภาระก็สูงจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุ (ทั้งบ้านมีลูกหลานไม่กี่คน แต่ปู้ย่าตายายป้าๆลุงๆเต็มไปหมด และส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนเกษียณกันไว้) สวนทางกับตลาดจบใหม่ ที่เงินเดือนต่ำลง (ซึ่งเอาจริงๆก็เป็นไปตามหลัก demand supply นั่นแหละ เพราะถ้าหาคนทำงานเงินเดือนเท่านั้นไม่ได้ เค้าคงไม่ให้แค่ 15000 บ้าง 12000 บ้าง 9000 ยังมี แต่มันมีคนยอมทำไง)
แล้วเด็กจบใหม่จะทำอย่างไร?
คำแนะนำสำหรับผมคือ หางานในฝันก่อนก็ได้ แค่ไม่ควรใช้เวลาเกิน 6 เดือน หรือเต็มที่ไม่เกิน 1 ปี และในระหว่างที่หาให้พยายามศึกษาเพิ่ม skill ใหม่ๆไปด้วย เพราะสกิลที่เรามี มันอาจตันแล้วจริงๆ หรือไม่ก็แข่งขันกันสูงจนเกินไป ถ้าเกิน 1 ปี ต้องมั่นใจว่ารับมือกับ 3 ปัญหาให้ได้ คือ
- มั่นใจว่าตอบได้ว่า ทำไมจบมานานแล้ว ยังไม่ทำงาน? ถ้าเรามีเหตุผลที่ดีพอ โอเค ผ่านได้ แต่ถ้าตอบว่าหางานไม่ได้ จะนำไปสู่ข้อ 2
- จะคลายความสงสัยของผู้สัมภาษณ์ได้อย่างไร ว่าทำไมที่ผ่านมาไม่มีคนเลือกเราเลย? ถ้าคลายข้อสงสัยได้ ไปข้อ 3
- เราจะจัดการกับความมั่นใจยังไง ความจริงก็คือ พอคนเราไม่ได้ทำงานนานๆ เราจะค่อยๆเสียความมั่นใจไปเรื่อยๆ และความรู้สึกไร้ค่า มันจะมาค่อยๆกัดกินเรา เราจะ manage ความรู้สึกนี้ได้อย่างไร?
ถ้าเคลีย 3 ข้อไม่ได้ แนะนำว่า มีงานอะไร ก็ยอมทำไปก่อน เพราะเก็บประสบการณ์ และหาช่องทาง โอกาสใหม่ๆในชีวิต ช่องทางและโอกาส เราอาจเจอหรือไม่เจอก็ได้ แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ เราไม่มีทางเจอแน่นอน
นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคน มีมุมมองบวกต่อน้องที่หางานทำไม่ได้แต่ยอมทำงานต่ำกว่าวุฒิ หรืองานไม่ตรงสายมาก่อน เช่น รู้สึกว่า เป็นคนไม่เรื่องมาก มีอะไรก็ยอมทำไปก่อน ถ้าวันนึงต้องทำอะไรที่ไม่ใช่หน้าที่หลัก ก็น่าจะไม่มีปัญหา, เป็นคนอดทน สู้ชีวิต, ยิ่งถ้าเคยผ่านงานหนักๆมาก่อน ก็มักไม่ค่อยบ่นบริษัทว่า ที่นี่งานหนัก เงินเดือนน้อย (เพราะรู้ว่าที่ๆนรกกว่ามีอยู่จริง) นอกจากนี้คนที่เคยทำงานจริงมาก่อน แม้จะไม่ตรงสายงานที่ตัวเองทำ แต่ก็ได้ฝึก soft skill ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสื่อสาร, การงานร่วมกับคนอื่น, การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น
แม้ว่าคำแนะนำนี้ อาจขัดใจหลายคน เพราะเหมือนเป็นการยอมให้คนอื่นเอาเปรียบ แต่โลกความจริงมันก็เป็นแบบนี้ เหมือนขายของสักอย่างทั้งชีวิต แล้ววันดีคืนดีมีร้านใหญ่กว่า ทุนหนากว่า มาเปิดตรงข้ามเรา ถ้าเราสู้ได้ ใครจะไม่อยากสู้ แต่ถ้าสู้ไม่ได้จริง ยอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตร ร้านสาขา หรือไปเป็นลูกจ้าง ก็ยังดีกว่าตายไปเฉยๆ เราคนเดียวเปลี่ยนระบบไม่ได้ เพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เป็นแบบนี้ตามที่กล่าวมาข้างต้น ที่ผ่านมาแรงงานจึงต้องรวมเป็นสหภาพ เป็นหน่วยงาน เพื่อให้มีพลังพอจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้
สุดท้าย ไม่อยากให้โทษว่า ปัญหาพวกนี้ เป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำเอาไว้ เพราะในแต่ละรุ่น ก็มีความยากง่ายไม่เหมือนกัน เหมือนที่คนแต่ก่อนชอบบ่นเด็กรุ่นใหม่ “ไม่มีความอดทน” เพราะรุ่นก่อนมองว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเยอะ สะดวกสบาย ไม่เหมือนรุ่นตัวเอง ต้องเริ่มจาก 0 ทุกอย่าง แต่เด็กรุ่นใหม่ก็มองผู้ใหญ่ว่า ทำไมยึดติด ไม่รับฟังความเห็น ตอนมีโอกาสทำไมปล่อยทิ้งไว้จนปัญหาตกทอดมาถึงรุ่นตัวเอง เพราะความจริงแล้ว คนแต่ละรุ่น ก็มีความยากง่ายในชีวิตไม่เหมือนกัน
เปรียบเหมือน คนรุ่นก่อนเหมือนมาบุกเบิกทุ่งหญ้าร้างที่ไม่มีอะไรเลย แต่คนรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมสวนที่เต็มไปด้วยแอปเปิ้ลเต็มสวนแล้ว แต่ปัญหาของคนรุ่นใหม่คือ มีแอปเปิ้ลเต็มสวนก็จริง แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของแอปเปิ้ลเหล่านั้นเลย ครั้นจะปลูกใหม่ ก็เหลือพื้นที่ให้ตัวเองปลูกไม่มากแล้ว จึงต้องหนีไปทำอย่างอื่นแทน
Share this: