เป็นไข้ ทำไมหมอไม่จ่ายยาแก้อักเสบ
ปวดหัว ทำไมหมอไม่จ่ายยาแก้อักเสบ
เจ็บคอ ทำไมหมอไม่จ่ายยาแก้อักเสบ
และยาแก้อักเสบที่คนไข้อยากได้นั้น ก็ต้องเป็นเม็ดแคปซูลสีเขียวฟ้ามั่ง สีดำแดงมั่ง และอื่นๆ
ซึ่งท่านรู้ไหมว่า ทำไมหมอถึงไม่จ่าย และท่านรู้ไหมว่ามันไม่ใช่ยาแก้อักเสบ
คำว่ายาแก้อักเสบที่คนทั่วไปเข้าใจจะหมายถึงยาฆ่าเชื้อ แต่ในวงการแพทย์ เค้าไม่เรียกยาฆ่าเชื้อว่ายาแก้อักเสบนะครับ ยาฆ่าเชื้อในหลายๆครั้งเรียกว่ายาปฏิชีวนะ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า antibiotics อย่างไรก็ดีคำว่ายาฆ่าเชื้อนั้นครอบคลุมกว่า เพราะยาฆ่าเชื้อบางตัวไม่ได้จัดว่าเป็นยาปฏิชีวนะก็มี แต่ยาแก้อักเสบ ในวงการแพทย์เค้าจะหมายถึงยาที่สามารถลดอาการ ปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งมักจะหมายถึงยาในกลุ่ม NSAIDs หรือยากลุ่ม Steroid ซะเป็นส่วนมาก
ส่วนที่ว่าทำไมหมอไม่จ่ายนั้น นั่นก็อาจเป็นเพราะหมอเค้าเห็นว่ายังไม่จำเป็น และอาจทำให้เชื้อดื้อยานั่นเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยที่ไม่จำเป็นนั้นจะทำให้เชื้อดื้อยาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่แน่ๆตอนนี้มันรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้มาก และในตอนนี้ ได้เกิดเชื้อดื้อยาอย่างสมบูรณ์แบบ หรือใกล้สมบูรณ์แบบที่เรียกว่า Superbug ขึ้นมาแล้ว
จริงๆแล้วเรื่องเชื้อดื้อยาผมเคยเขียนไว้แล้วครั้งนึง เรื่อง เชื้อดื้อยา กับการคัดเลือกตามธรรมชาติ แต่ในบทความนี้จะพูดในแง่มุมที่ต่างออกไปนะครับ
Superbug คืออะไร
สำหรับคำว่า Superbug นั้นมาจากคำว่า bug ซึ่ง bug ในการแพทย์เป็นศัพท์แสลงหมายถึงเชื้อโรค ซึ่งเชื้อที่ก่อโรคในร่างกายเรานั้นมี 4 พวกคือเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ และไวรัส คำว่า Superbug จึงหมายถึงเชื้อดื้อยาเยอะและรุนแรงมาก ซึ่งดื้อยาเกือบทุกชนิดหรือแทบจะทุกชนิดเลยก็ว่าได้ แต่คำว่า Superbug ที่ใช้กันอยู่ ณ ตอนนี้จะหมายถึงเชื้อแบคทีเรียเป็นหลัก เพราะตอนนี้เชื้อที่มีปัญหาดื้อยารวดเร็วและรุนแรงคือเชื้อแบคทีเรีย ส่วนเชื้อเชื้อราและพยาธิมักไม่ค่อยมีปัญหาเชื้อดื้อยา อาจเป็นเพราะเราไม่ค่อยได้ใช้ยาฆ่าเชื้อพวกเชื้อราและพยาธิบ่อยนัก แล้วตัวเชื้อเองก็ไม่ได้มีการปรับตัวและสร้างยีนดื้อยาได้เร็วเท่าแบคทีเรีย ส่วนไวรัสนั้น เรายังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัส แต่เรามียาต้านไวรัส ซึ่งช่วยรักษาโรคที่เกิดจากไวรัสได้ อย่างไรก็ดี ไวรัสก็มีพบการดื้อยาบ้าง มักพบในผู้ป่วย HIV ที่ทานยาไม่ตรงเวลา หรือไม่ยอมทานยาต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้ดื้อยาถึงขั้นเป็น Superbug คำว่าจึงหมายถึงแบคทีเรียดื้อยาเป็นหลัก
รู้ว่าเชื้อดื้อยา ทำไมไม่เร่งวิจัยยา
หากเรามองยาเป็นสินค้า ก็คงจะไม่ผิดนักที่จะพูดว่ายาก็เป็นสินค้าที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดมากที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง การวิจัยและพัฒนายาสักตัวไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการทดลองฤทธิ์ในหลอดทดลอง ทดสอบในเซลล์เพาะเลี้ยง ทดลองในสัตว์ทดลอง ทดลองในอาสาสมัครขนาดเล็ก แล้วค่อยๆทดสอบในอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนมั่นใจได้ว่ายาตัวนั้นมีประสิทธิภาพจริงๆ มีประสิทธิภาพที่ดีกว่ายาตัวก่อน (หรือไม่ก็ต้องมีข้อดีมากกว่าสักอย่าง) มีความพิษทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จากนั้นจึงพัฒนาสูตรตำรับและขึ้นทะเบียน ซึ่งกระบวนการพัฒนานี้ใช้เงินและเวลามหาศาล ในการพัฒนายาตัวนึงมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านเหรียญ และใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 ปี ดังนั้นจึงไม่แปลก ที่การพัฒนาของยา จะไม่ทันการพัฒนาของเชื้อโรค อีกทั้งบริษัทยาเอง ก็ไม่ค่อยอยากทุ่มเงินไปกับการวิจัยยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากยาฆ่าเชื้อ เมื่อออกสู่ท้องตลาดแล้ว กว่าจะได้ขายในตลาด mass ต้องรอนาน ดีไม่ดียาหมดสิทธิบัตรซะก่อนจึงได้ขาย เพราะต้องมีการกันยาตัวใหม่ไว้เป็นไม้ตายเวลาเจอเจ้า Superbug เนี่ยแหละ ทำให้ยาในกลุ่มยาฆ่าเชื้อทำกำไรได้น้อยกว่ายาที่ผู้ป่วยต้องกินต้องใช้เป็นประจำ อย่างพวกยาเบาหวาน ความดันมาก
แม้ว่าการวิจัยยาจะใช้เวลานาน และบริษัทยาไม่ค่อยอยากวิจัยกันเท่าไรนัก แต่ก็พอมีทางออกอยู่บ้าง เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ Superbug เป็นปัญหาระดับโลก กฏต่างๆจะผ่อนคลายลงเพื่อให้เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาให้สามารถทำได้เร็วขึ้น เหมือนยาเอดส์และยามะเร็งที่ใช้เวลาในการวิจัยเฉลี่ยอยู่ที่ 6-8 ปี แต่ก็ต้องแลกมากับข้อมูลความปลอดภัยที่ไม่ครบถ้วนเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ถ้าถึงวันนั้นแล้ว ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยที่อาจน้อยลงก็เป็นอะไรที่ยอมรับได้ เมื่อพิจารณาจากความคุ้มค่าจากการที่ต้องสูญเสียไปกับเชื้อดื้อยา และเมื่อมันกลายเป็นปัญหาระดับโลก บวกกับกฏต่างๆผ่อนคลายลงบริษัทยาก็จะมีความสนใจในการวิจัยและพัฒนายาในกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะใช้ต้นทุนที่น้อยลง แต่ขายได้ราคาสูงขึ้น
สถานการณ์ Superbug ตอนนี้เป็นอย่างไร
ตอนนี้ที่เป็นข่าวดังๆ มีพบที่จีนและอเมริกา อย่างไรก็ดีตอนนี้เชื้อ Superbug ยังมีไม่เยอะถึงขั้นเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลก แต่หากเป็นเช่นนี้ต่อไป อีกไม่นานจะมี Superbug เกินกว่าที่จะรับมือไหว
Superbug เกิดขึ้นได้อย่างไร
เชื้อแบคทีเรียก็เหมือนสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะฉะนั้นเวลามันเจอกับยา มันก็ต้องมีตัวที่ตาย และตัวที่แข็งแรงที่อยู่รอดได้ แล้วเจ้าตัวที่อยู่รอด พอมันแพร่พันธุ์ รุ่นลูก รุ่นหลานของมันก็กลายเป็นเชื้อดื้อยา ยาแต่ละตัวนั้นมีอวัยวะเป้าหมายที่มันจะเข้าไปฆ่าเชื้อได้ไม่เหมือนกัน คือยามีการ distribution ไปคนละส่วนของร่างกายไม่เหมือนกัน และไม่มียาตัวไหนฆ่าเชื้อทุกตัวได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะมีเชื้อโรคหลงเหลือในส่วนอื่นที่ยาไปไม่ถึง หรือฆ่าไม่ได้ ทำให้มีเชื้อโรคที่รอดตายและเมื่อสัมผัสกับยาบ่อยๆก็พัฒนาตัวเองเป็นเชื้อดื้อยา ดังนั้นยิ่งเราใช้ยาฆ่าเชื้อมาก ก็ยิ่งพบเชื้อดื้อยามากขึ้นตามไปด้วย
จะแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา หรือ Superbug ได้อย่างไร
การแก้ปัญหา Superbug คือใช้ยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะให้น้อยที่สุด ใช้ยาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ใช้อย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ใช่เฉพาะกับแพทย์เท่านั้น ตัวคนไข้เองก็ต้องใช้ยาให้ถูกต้อง ปัญหาของบ้านเราคือ เวลาเราป่วย เราชอบขอยาแก้อักเสบ (ซึ่งยาแก้อักเสบในความหมายของคนทั่วไปคือยาปฏิชีวนะ) เมื่อได้มาแล้ว ก็กินยาไม่ครบ มักจะกินพออาการทุเลาเท่านั้น พออาการเจ็บป่วยหายไปก็หยุดทาน วนไปอย่างนี้ จนเกิดเชื้อดื้อยารุนแรงในที่สุด และเมื่อเราติดเชื้อจากคนที่มีเชื้อดื้อยา ก็ทำให้เราติดเชื้อดื้อยาไปด้วย ระลึกไว้เสมอว่า ยาปฏิชีวนะ ใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และต้องใช้ให้ถูกต้อง
การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ไม่ใช่แก้เฉพาะในวงการแพทย์เท่านั้น แต่รวมถึงภาคการเกษตร และปศุสัตว์ที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย ผมไม่ทราบว่าทางฝั่งภาคการเกษตร และปศุสัตว์มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร แต่เท่าที่ทราบ การดื้อยาในสัตว์พบสูงกว่า 90% ซึ่งสถานการณ์รุนแรงกว่าคนมาก
จะเกิดอะไรขึ้นหากมี Superbug มากๆ
เอาจริงๆ คงไม่มีใครรู้อนาคตหรอกครับ แต่ถ้าให้เดา สถานการณ์ มันก็คงไม่ต่างอะไรจากตอนเราไม่มียาปฏิชีวนะ ผมมีรูปนึงให้ดูครับ
รูปนี้แสดงปริมาณของประชากรโลก จะเห็นได้ว่ามนุษย์พึ่งจะมีประชากรประมาณ 1 ล้านคน ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1700 – 1800 เท่านั้นเอง แล้วพอหลังจากที่เราค้นพบยาปฏิชีวนะและใช้ยาปฏิชีวนะอย่างแพร่หลายในช่วงประมาณปี ค.ศ.1940 จำนวนประชากรโลกก็เพิ่มขึ้นเป็น 7000 ล้านคน แบบนี้น่าจะพอบอกใบ้เราได้คร่าวๆนะครับ ว่าในวันที่เราไม่มียาปฏิชีวนะอีกต่อไป เราต้องสูญเสียมากมายขนาดไหน
ขอบคุณ Video จาก Mahidol Channel
Share this: