มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากน้ำมันพืชและสัตว์มาเป็นพันปีแล้ว หากพูดถึงน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร ถ้าเป็นน้ำมันจากสัตว์เราก็นิยมใช้น้ำมันหมู ถ้าเป็นน้ำมันพืชก็อย่างเช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันบางชนิดก็ใช้เพื่อหวังผลทางการแพทย์ เช่น พวกน้ำมันหอมระเหย หรือ essential oil ที่ดังๆหน่อยก็อย่างเช่นน้ำมันลาเวนเดอร์ที่ช่วยคลายความกังวลและทำให้หลับสบาย ซึ่งวิธีการสกัดเอาน้ำมันออกมาก็มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเคมีและคุณสมบัติของน้ำมันที่ต้องการเหล่านั้น เช่น
- ใช้ความร้อนในการสกัด อย่าง การกลั่นด้วยไอน้ำ เราอาจได้น้ำมันที่มีความบริสุทธิ์สูง แต่ก็แลกกับเราต้องสูญเสียสารสำคัญไปบางชนิดที่ต้องสลายหรือเปลี่ยนรูปไปเมื่อเจอความร้อน
- ใช้ตัวทำละลายในการสกัด ซึ่งเราสามารถเลือกได้คร่าวๆว่าจะให้สารประเภทใดละลายออกมาได้บ้างจากการเลือกระบบตัวทำละลาย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าสารพวกน้ำมันเป็นสารที่ไม่มีขั้ว ซึ่งตัวทำละลายที่ใช้ละลายออกมาได้นั้น ต้องเป็นพวกตัวทำละลายอินทรีย์ ซึ่งเกือบทั้งหมดมีความเป็นพิษสูง รวมถึงมีกลิ่น และมีรส ทำให้รบกวนคุณลักษณะของน้ำมันที่เราสกัดออกมาได้ อีกทั้งกระบวนการกำจัดออกค่อนข้างยุ่งยากและใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่นิยมนำมาสกัดน้ำมันที่ใช้สำหรับการกิน ทา หรือสูดดมสักเท่าไร
- วิธีแบบ cold press หรือที่เรียกแบบบ้านๆว่าการหีบ เรียกแบบหรูๆหน่อยก็เรียกว่า “สกัดเย็น” เป็นวิธีโบราณดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งวิธีนี้ใช้หลักการอาศัยแรงบีบ อัด เค้น ทางกายภาพ เพื่อให้ได้น้ำมันออกมา วิธีนี้มีข้อดีคือไม่ใช้ความร้อน ทำให้ได้สารในพืชนั้นๆค่อนข้างครบ และสลายตัวหรือเปลี่ยนรูปไปน้อยมาก แต่ก็มีข้อเสียคือสารที่ได้จะมีความบริสุทธิ์น้อยมาก ในหลายๆครั้งอาจมีสารที่ไม่พึงประสงค์ปนมาด้วย เช่น พืชบางชนิดมีน้ำมันที่มีประโยชน์แต่มีสารที่ให้กลิ่นที่ไม่ดี หากใช้วิธีนี้ในการสกัด เราก็จะได้กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์นั้นมาด้วย อย่างไรก็ดี การสกัดด้วยวิธีแบบ cold press ถือได้ว่าเป็นการสกัดที่ไม่ใช้ความร้อน และไม่ได้ผ่านกรรมวิธี จึงถือว่าน้ำมันที่ได้เป็น virgin oil
ในส่วนของน้ำมันมะพร้าวเองนั้นมีวิธีที่นิยมหลักๆอยู่ 2 วิธี คือใช้ความร้อนในการสกัดโดยตรงเหมือนการสกัดน้ำมันหมู ซึ่งมีข้อดีคือเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็ว แต่สารสำคัญหลายชนิดมักสลายตัวไปกับความร้อน ส่วนวิธีที่สองคือใช้วิธีแบบ cold press หรือการสกัดเย็น ซึ่งเป็นวิธีแบบดั้งเดิม และในช่วง 10 ปี หลังมานี้มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าน้ำมันมะพร้าวมีสารที่มีประโยชน์หลายชนิด วิธีการสกัดเย็นจึงได้รับความนิยมกลับมาอีกครั้ง เพราะสามารถสกัดเอาสารที่มีประโยชน์เหล่านั้นไว้ได้ครบถ้วน โดยวิธีการสกัดนั้นเริ่มจาก
- เตรียมมะพร้าวขูด ให้นึกถึงเวลาเราจะคั้นกะทิ ทำแบบนั้นเลยครับ มะพร้าวที่เราใช้ควรใช้มะพร้าวแก่ที่สด เพราะจะได้ความสดและความหอม หรือถ้าอยากได้กลิ่นหอมๆหน่อย ก็อาจเลือกมะพร้าวทีมีกลิ่นหอมมาทำ เช่นเลือกใช้มะพร้าวน้ำหอมมาทำหรือผสม
- เทน้ำอุ่นลงไปในภาชนะ (ภาชนะที่ใช้ควรทนความร้อนได้) ที่เราใส่มะพร้าวขูดที่เตรียมไว้ในข้อ 1
- บีบขยำให้น้ำมันมะพร้าวออกมาได้มากที่สุด จะว่าไปขั้นตอนนี้ก็เหมือนกับการคั้นกะทินั่นเอง ยิ่งเราได้กะทิมากเท่าไร เราก็จะยิ่งได้ปริมาณน้ำมันมากเท่านั้น
- คั้นไปเรื่อยๆจนเรารู้สึกว่าบีบแล้วมีการร่วนซุย ไม่ติดกัน แสดงว่าเราคั้นจนกะทิออกหมดแล้ว ให้หยุดคั้นได้
- กรองด้วยผ้าขาวบาง พยายามอย่าบีบตอนกรอง ปล่อยให้กรองผ่านไปเฉยๆพอ เพราะจะทำให้เศษตะกอนเล็กๆกลับลงมาในกะทิที่เรากรองได้
- นำมากรอกใส่ภาชนะที่มองเห็นการแยกชั้นได้ชัดเจน เพราะเมื่อนำกะทิมาตั้งทิ้งไว้จะเกิดการแยกชั้นระหว่างชั้นน้ำ กับน้ำมัน อุปกรณ์ที่ง่ายที่สุดเลยก็คือ separatory funnel แต่อาจจะหายากและมีราคาแพงสักหน่อย ดังนั้นแนะนำให้ใช้ขวดพลาสติกใส เพื่อที่จะได้มองเห็นการแยกชั้นได้ชัด
- ตั้งทิ้งไว้ 2 วัน หรือรอจนกว่าการแยกชั้นจะสมบูรณ์
- ถ้าเราใส่ separatory funnel ส่วนของน้ำมันจะอยู่ด้านบน ให้เราขันเอาชั้นน้ำด้านล่างออก ก็จะได้น้ำมันมะพร้าว แต่ถ้าหากใส่ขวด ให้นำไปแช่เย็น (ช่องเย็นธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเป็นช่องแช่แข็ง เพราะอาจทำให้ชั้นน้ำนั้นแข็งตามไปด้วย) เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันที่อิ่มตัวเยอะ ทำให้มีจุดหลอมเหลวที่สูง เมื่อนำไว้ในที่ๆมีอากาศเย็น มันจะแข็งตัว
- นำมีดตัดขวดพลาสติก ขูดเอาเฉพาะส่วนแข็งๆออกมา แล้วนำมาทิ้งไว้ให้ละลาย
- กรองตะกอนออกอีกครั้งด้วยผ้าขาวบาง และบรรจุใส่ภาชนะที่ต้องการ
สำหรับการใช้น้ำมะพร้าาวนั้น มีวิธีการใช้ที่นิยมอยู่ 2 วิธีคือ วิธีการทา กับวิธีการกิน วิธีการทานั้นอาศัยหลักการที่ว่า น้ำมันมะพร้าวเป็นสารจำพวกน้ำมัน ซึ่งเมื่อเคลือบผิวแล้วจะให้ป้องกันไม่ให้น้ำระเหยไปจากผิว จึงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้ ส่วนการกินนั้น จากที่ผู้เขียนลองรวบรวมข้อมูลมา พบว่าปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงและผู้เขียนเอง ยังไม่พบงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ และมีน้ำหนักมากเพียงพอ ที่ทำให้เชื่อได้ว่าน้ำมันมะพร้าวมีผลทางคลินิกจริงๆ (แม้ว่าจะพบสารหลายตัวที่คาดการณ์ได้ว่ามีประโยชน์) มีบางรายงานระบุว่าช่วยเพิ่ม HDL (ไขมันดีได้) แต่กลุ่มตัวอย่างที่ทดลองก็เป็นกลุ่มเล็ก และใช้เวลาการทดลองค่อนข้างสั้น และยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัดว่าปัจจัยควบคุมตัวอื่นๆมีผลต่อการทดลองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในการกินน้ำมะพร้าวน้้น ผู้เขียนอยากให้พิจารณาว่าน้ำมันพร้าวมีไขมันอิ่มตัวสูงมาก สูงกว่าน้ำมันหมูเสียอีก ซึ่งขึ้นว่าไขมันอิ่มตัว ย่อมสู้ไขมันไม่อิ่มตัวไม่ได้ แต่ไขมันอิ่มตัวในมะพร้าวส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันชื่อ lauric acid (C12) ซึ่งเป็นกรดไขมันอิ่มตัวที่โมเลกุลสั้นมาก ทำให้ร่างกายสามารถเผาผลาญได้ง่ายผ่านกระบวนการ beta-oxidation ซึ่งแน่นอนว่าง่ายกว่าพวกไขมันไม่อิ่มตัวโมเลกุลยาวๆเสียอีก ดังนั้นหากจะพิจารณาการกินน้ำมันมะพร้าว ก็ควรกินให้พอดี ไม่มากเกินไป และควรพิจารณาด้วยว่า วันนึงเราได้รับพลังงาน(โดยเฉพาะพวกแป้ง) และทานไขมันไปมากแล้วหรือยัง หากจะทานน้ำมันมะพร้าวอย่างจริงจัง ก็ควรลดไขมันในอาหารอย่างอื่นที่เราทานด้วย และถึงแม้ว่างานวิจัยจะยังสรุปแน่ชัดไม่ได้ ว่าน้ำมันมะพร้าวใช้ได้จริงในทางคลินิก แต่ผลการวิจัยส่วนใหญ่ก็รายงานไปทางค่อนข้างดี มากกว่าไม่ดี และไม่พบอันตรายร้ายแรงจากการทานน้ำมันในขนาดที่พอเหมาะ (ไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน) อย่างไรก็ดี อยากให้พิจารณาด้วยว่า ยังไม่มีการวิจัย (หรืออาจจะมีแต่ผู้เขียนหาไม่พบเอง) ที่ให้ผู้ทดลองทานน้ำมันมะพร้าวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นผลจากการทานน้ำมันมะพร้าวที่นานในระดับหลายเดือนหรือหลายปีต่อเนื่อง จึงยังไม่อาจคาดเดาได้ ผู้เขียนขอยกคำพูดของ Dr. Daniel Hwang ซึ่งสรุปได้ตรงใจผู้เขียนมากๆว่า
“There are a lot of claims that coconut oil may have health benefits, but there is no concrete scientific data yet to support this”
Share this:
ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ค่ะ