ตั้งแต่ facebook ลด post reach ลง จนแทบเหลือ 0% Page ต่างๆที่ไม่สามารถสร้าง content คุณภาพให้เกิดการแชร์และบอกต่อต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทำให้การเข้าถึง Page นั้นน้อยลง เรียกได้ว่าถ้า Page นั้นไม่ยอมจ่ายเงิน แล้วยังไม่สามารถผลิต content ให้โดนใจเหล่า influencer ให้กดแชร์ได้ ก็แทบกลายเป็น page ร้างในทันใด
สำหรับ Page ไหนที่ทุนหนา โปรโมท post สักนิดหน่อย ให้คนกลับมาเห็นใกล้ๆกับตอนก่อนโดนลด post reach ก็ไม่มีปัญหา
สำหรับ Page ไหนที่สร้าง content เก่งๆ คนก็แชร์กระจายอยู่แล้ว ไม่ได้รับผลกระทบอะไร
แต่ Page ไหนที่ไม่สามารถผลิต content เจ๋งๆเองได้และไม่อยากเสียเงินเพื่อโปรโมท Page วิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุดก็คือ ก็อบ ของคนอื่นมาลง
กรณีศึกษา Salmon House กับของฟรีทางสังคม
ดราม่าสดๆ ร้อนๆ เรื่อง Page Salmon House ที่โดน Page อื่นดูด VDO ไปลง Page ของตัวเอง แทนที่จะกดแชร์นั้น เป็นกรณีศึกษาที่ดีในเรื่องของเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม ในประเด็นของต้นทุนของบรรทัดฐานทางสังคม
คลิปที่มีประเด็นดราม่า >>>>> https://www.youtube.com/watch?v=u06GqlNiJUY&feature=youtu.be
เราอยู่บนโลกที่มีบรรทัดฐาน 3 แบบ คือ บรรทัดฐานทางการเศรษฐกิจ บรรทัดฐานทางสังคม และบรรทัดฐานทางศีลธรรม แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ นักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมจึงแบ่งบรรทัดฐานออกเป็น 2 แบบ คือ เรียกบรรทัดฐานทางการเศรษฐกิจว่า บรรทัดฐานทางการตลาด และเรียกบรรทัดฐานทางสังคมกับบรรทัดฐานทางศีลธรรมรวมกันว่า บรรทัดฐานทางสังคม
เราปฏิบัติต่อบรรทัดฐาน 2 อย่างนี้ต่างกัน แต่ที่ไม่ต่างกันก็คือทั้ง 2 บรรทัดฐานต่างก็มีต้นทุนเหมือนกัน
อย่างเช่น หากเราถูกจ้างให้ทำงาน เราจะทำโดยใช้บรรทัดฐานทางการตลาด ในขณะที่เราทำงานการกุศลโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เราจะทำโดยใช้บรรทัดฐานทางสังคม
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 แบบ ต่างก็มีต้นทุนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นแรง พลัง หรือเวลาของเรา แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ อันนึงมีเงินมาเกี่ยวข้อง ส่วนอีกอันไม่มีเงินมาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องประหลาดมากของมนุษย์ที่เรื่องใดๆก็ตามที่มีเงินมาเกี่ยวข้อง เราจะใช้บรรทัดฐานทางการตลาดในการตัดสินทันที
บรรทัดฐานทางการตลาดนั้น ชัดเจน ตรงไปตรงมา แต่ไม่อบอุ่น เหมือนเราทำงานแลกเงินเดือน เราทำงานให้ เค้าจ่ายเงินเดือนมา ทุกอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน แต่มันไม่มีความรู้สึกเป็นมิตรและอบอุ่นอยู่ในนั้น ในขณะที่บรรทัดฐานทางสังคมนั้นอบอุ่น แต่คลุมเคลือ อย่างเช่น คุณตั้งใจตื่นแต่เช้าไปช่วยโบกรถหน้าโรงเรียนที่ลูกคุณเรียนอยู่ มันเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพ และความอบอุ่น แต่ผลตอบแทนที่ได้ ผลลัพธ์ของการกระทำ ไม่ได้ตรงไปตรงมา อาจเกิดผลได้หลายด้านหลายมิติ ไม่ชัดเจนเท่าไรนัก
สังคมไหนที่มีต้นทุนทางสังคมเยอะ บรรทัดฐานทางสังคมแข็งแรง สังคมนั้นจะมีของฟรีในทางเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมมาก
ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อนประเทศอังกฤษ แต่ละหมู่บ้านจะมีทุ่งหญ้าส่วนกลางให้ทุกคนเอาวัวมากินหญ้าได้ ทุ่งหญ้านี่ก็ไม่ใช่ของฟรีนะครับ แต่เกิดจากทุกคนในหมู่บ้านช่วยกันเสียสละที่ดิน คนละเล็ก คนละน้อย และหากทุกคนทำตามกติกา ไม่พาวัวมามากเกินจำนวน ทุกคนก็จะมีหญ้าฟรีๆให้วัวกินฟรีๆตลอดไป น่าเศร้า เพราะในที่สุดแล้วก็มีคนเห็นแก่ตัว เอาวัวไปกินหญ้าเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ เมื่อมีคนแรกทำ คนที่ 2 และ 3 ก็ตามมา เพราะกลัวว่าหากไม่ทำ ตนเองก็จะเสียเปรียบ และอาจไม่เหลือหญ้าให้วัวของตัวเองกิน สุดท้ายก็ไม่มีทุ่งหญ้าฟรีอีกต่อไป
ต้นทุนทางสังคมก็แบบนี้ มันเกิดขึ้น และหากทุกคนช่วยกันรักษามัน เราก็จะมีของฟรีที่เกิดจากการเสียสละของคนในสังคมให้ใช้ตลอดไป แต่ต้นทุนแบบนี้ ก็มักจะมีต้นทุนส่วนเกินให้คนเห็นแก่ตัวเข้าไปกอบโกยอยู่เสมอ และหากถูกกอบโกยจนมากเกินไป มันก็จะพังลงในที่สุด
กรณีของ Simon House ที่เค้าสร้างสรรค์ผลงานดีๆในยูทูปและแฟนเพจของเค้า แน่นอนว่าเค้ามีต้นทุน ทั้งต้นทุนทางความคิด และต้นทุนทางการผลิต แต่เค้าไม่ได้คิดเงินค่าชมผลงานของเค้า ถึงแม้ว่าในเบื้องลึกเค้าจะหวังผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน จากการที่เค้าไม่ได้ลงคลิปใน facebook แต่ไปลงในยูทูปซึ่งมีการติดโฆษณาเอาไว้ด้วย แต่ความรู้สึกของคนทั่วไป ก็เห็นว่ามันเป็นของฟรีไปแล้ว เมื่อมันเป็นของฟรี ทุุกคนก็จะเอาบรรทัดฐานทางสังคมมาใช้ ด้วยความไม่ชัดเจนในตัวของบรรทัดฐานนี้ ทำให้กำแพงระหว่างความถูกต้องกับความผิดของหลายๆคนนั้นพร่ามัวลง นำไปสู่เหตุการณ์การดูดคลิปไปลงตาม Page ตัวเอง เพื่อเรียกยอด like และยอด share
หากยอดคนดูของคลิปต้นฉบับกับคลิปที่ถูกดูดไปห่างกันเป็นหลักแสนหรือหลักล้าน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ปัญหาคือหลังจากต้นฉบับลงคลิปไป 8 ชั่วโมง ต้นฉบับมียอดคนดูประมาณ 2 แสน ในขณะที่บาง Page ที่ดูดไปมียอดคนดูเกือบล้านคนแล้ว
จะเห็นได้ว่า หากคนทำคลิปและสร้างสรรค์ผลงาน ยังได้ประโยชน์จากคลิปที่ตัวเองทำอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ของ like และ share ที่ทำให้ Page เค้าใหญ่ขึ้นและมีมูลค่ามากขึ้น และในแง่ของรายได้ที่ได้จากโฆษณาของ youtube เค้าก็มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ใส่ไอเดียดีๆ ให้เราได้รับชมกันอย่างฟรีๆกันต่อไปนานๆ แต่ถ้าหากคนดูดคลิปเอาประโยชน์ในส่วนที่เค้าควรจะได้ไปมากกว่าที่จะยอมรับได้ ไม่นานคนทำก็คงหมดกำลังใจสร้างสรรค์ผลงานดีๆ แล้วเราก็จะได้เห็นแต่ผลงานคุณภาพต่ำของพวก Page สายปั่นกันต่อไป
ทุกอย่างล้วนมีต้นทุน
จริงๆแล้ว ทุกอย่างล้วนมีต้นทุนด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ like และ share ของเราเอง หาก facebook กำหนดว่า จะ like Page ไหนต้องเสียค่า like Page ละ 1 บาท เราคงคิดแล้วคิดอีกก่อนกด like แต่พอมันเป็นของฟรีปุ๊บ มันทำให้เราลืมข้อเสียของการ like ไปหมดสิ้น เรา like ด้วยอารมณ์ที่เราชอบ แต่แลกมากับการที่เราอาจต้องมีเห็น content ขยะจาก Page ที่เรา like ไป ในอนาคต หาก Page นั้นไม่ได้มีคุณภาพจริงๆ นั่นเป็นค่าเสียโอกาสมหาศาลเพราะ facebook จะพยายามปล่อย new feed ให้คนอ่านไม่เกิน 1,500 feed ต่อคน ต่อวัน เพราะ facebook กลัวว่า content จะมากเกินไปจนคนรำคาญ การที่คุณ like Page ไม่มีคุณภาพเยอะๆ นั่นหมายถึงการที่คุณเสียโอกาสจากการที่จะได้รับชม content คุณภาพ จาก Page คุณภาพอีกด้วย แน่นอนว่าค่าเสียโอกาสอาจมากมายจนไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินที่แน่นอนได้ แต่ตอนเรากด like เราไม่รู้สึกหรอกครับ ตราบใดที่เรารู้สึกว่า มันเป็นของฟรี
like ของ share ของคุณมีมูลค่ามหาศาลในวงการ Internet marketing like และ share ของแต่ละคนก็มีมูลค่าไม่เท่ากัน ก่อนกด like ในแต่ละครั้ง อยากให้คุณลองคิดว่า หากคุณต้องยอมเสียเงิน 1 บาท เพื่อการกด like นั้น คุณจะกด like ไหม การคิดแบบนี้จะทำให้การระบบใช้เหตุผลของคุณกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่ในทันที
การดูดคลิปวีดีโอมีมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้เรายังไม่ตระหนักถึงผลที่จะตามมาของมันมากนัก เดี๋ยวนี้เว็บพนันบอลที่โดนจำกัดช่องทางการโฆษณา (เพราะผิดกฏหมาย) ก็มีการเปิด live หนังให้ดูกันสดๆ แล้วเอาไปปล่อยตามกลุ่มต่างๆ เพื่อแฝงโฆษณาเว็บตัวเองกันทั้งนั้น หรือเจ้าไหนที่ดีหน่อย ก็อาจจะแฝงโฆษณาให้ Page ที่ทำคลิปเกี่ยวกับบอลแทรกโฆษณาของตัวเองลงในคลิป แลกกับเงินค่าโฆษณาให้ Page นั้น
ในวงการ Internet Marketing มีอะไรที่ซับซ้อนกว่านี้อีกเยอะนะครับ Page ต่างๆ ที่มี like และการเคลื่อนไหวเยอะๆมีมูลค่าหลักแสน แม้แต่ Page อย่าง youlike ที่โตขึ้นมาได้จากการ copy content คนอื่นล้วนๆ มีมูลค่าซื้อขายกันในหลักล้านทีเดียว Page ใหญ่ๆหลายๆ Page มีผู้จัดการคนเดียวกัน เพื่อโฆษณา ปั่นดราม่า หรือโหมกระแสเรื่องใดก็ได้ หากมี Page พันธมิตรที่ถูกปั้นขึ้นมาใหม่ เพื่อจับกลุ่มผู้ใช้งานเฉพาะทางมากขึ้น หรือขยายกลุ่มผู้ใช้งานให้กว้างขึ้น Page ใหญ่ๆก็จะช่วยกันแชร์เพื่อเรียก like ให้ Page เกิดใหม่อย่างรวดเร็ว จะว่าไป Page ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากสื่อๆนึง ที่สามารถควบคุมมุมมอง ข่าวสาร และความคิดของประชาชนได้
สื่อในโลกออนไลน์มีลักษณะเด่นคือ มีอิสระสูงมาก เพราะมันจัดเป็นสื่อที่มีการควบคุมน้อยที่สุด และยังเป็นสื่อที่ควบคุมได้ยากที่สุดในขณะนี้ด้วย ใครเห็นช่องว่างตรงนี้ตั้งแต่แรก ก็มีช่องทางสื่อของตัวเองได้ง่ายๆ แถมมูลค่าของมัน ก็เหมือนกับสื่ออื่นๆ คือ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ชม ยิ่งมีคนชมมาก มูลค่าของมัน ก็มากตามไปด้วย
ถ้าใครสนใจเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม อยากแนะนำให้อ่านหนังสือของ dan ariely ครับ เค้าถือว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมชื่อดังคนนึงของโลกเลย ตอนนี้หนังสือของ dan ariely ที่ยังมีขายอยู่ก็มี
- คุณมีเหตุผลอยู่กี่ดอลลาร์ Dollars and Sense
- เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมฉบับเข้าใจง่ายที่สุดในโลก
- เราทำงานแล้วได้อะไร : Pay Off
น่าสนใจทุกเล่มครับ ส่วนตัวผมอ่านแล้วชอบมากๆ อยากแนะนำครับ
Share this: