ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาที่รัฐบาลไทยยังตระหนักน้อยกว่าความจริงไปมาก

ผมเป็นคนแรกๆ น่าจะตั้งแต่ปี 2556 ที่ออกมาพูดเรื่องปัญหา aging society จนปี 2559 ได้เริ่มทำเพจ tobepharmacist ก็พูดถึงปัญหานี้มาตลอด จนคนเริ่มตระหนักและออกมาพูดกันมากขึ้นก็คือปี 2561 ก็ดีใจ (ก่อนหน้านี้ยังงงๆกันอยู่เลยว่ามันเป็นปัญหาอะไร หรือไม่น่าใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร) แต่ก็ไม่เคยเห็นออกมาตรการอะไรเป็นรูปเป็นร่างเพื่อแก้ปัญหา

จนถึงวันนี้ ก็เหมือนยังไม่เข้าใจกันจริงๆ ก็เกาไม่ถูกที่คันกันซะที

ปัญหา aging society เมืองไทย ไม่เหมือนที่อื่นบนโลก เพราะยุโรป ปัญหาหลักเกิดจากคนแก่อายุยืนขึ้นมาก แต่เมืองไทย คนแก่ไม่ได้อายุยืนขึ้นขนาดนั้น ปัญหาของเมืองไทย คล้ายๆกับญี่ปุ่นคือ เด็กเกิดน้อยลงมากต่างหาก ซึ่ง aging จากสาเหตุนี้ รุนแรงกว่า aging จากการที่คนแก่อายุยืนขึ้นมากๆ และจะไปใช้ตำรายุโรปมาแก้ปัญหาเดียวกันนี้ไม่ได้

แต่เราก็มีจุดพิเศษที่น่าปวดหัวกว่าญี่ปุ่นคือ แม้ว่าคนไทยจะอายุยืนขึ้น แต่ช่วงระยะเวลาที่แข็งแรง ไม่ได้เพิ่ม คือตายช้าลงก็จริง แต่เวลาที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เวลาที่มีคุณภาพ เช่นระยะเวลาป่วยติดเตียง เพิ่มขึ้นมาแทน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และจะเป็นภาระต่อโครงสร้างภาระการเลี้ยงดูมากกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

แล้วที่ผ่านมา รัฐบาลก็การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยด้วยวิธีง่ายๆอย่าง การหักลดหย่อนภาษี การเพิ่มวันลาคลอด ให้สวัสดิการคลอดบุตร ซึ่งการแก้ไขปัญหาเพียงมิติเดียวนี้ แทบไม่ได้ช่วยให้คนที่มีความพร้อมในการมีบุตร (ซึ่งควรจะมีบุตรให้แก่ประเทศ) อยากจะมีบุตรขึ้นมาแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันกลับไปกระตุ้นให้ คนที่ไม่มีความพร้อม ซึ่งไม่ได้มีปัญหาเรื่องการมีบุตรน้อยแต่อย่างใด มีบุตรมากขึ้นเพื่อเอาสวัสดิการดังกล่าวอีก (เพราะต้นทุนการเลี้ยงบุตรต่อคนต่ำกว่า จึงมองว่าคุ้มกว่าที่จะมีเพิ่ม)

แล้วจะแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุอย่างไรดี

ส่วนตัวมองว่าวิธีแก้ปัญหา ที่น่าสนใจตอนนี้มี 2 อัน

  1. เรื่องการรับผู้อพยพ วิธีนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วพยายามใช้จุดแข็งของประเทศตัวเอง ในการดึงดูดประชากรระดับ talent จากประเทศอื่น ไม่ว่าจะด้วยเทคนิคเรื่องการให้ทุนการศึกษา การให้สิทธิพิเศษในการทำงานแก่อาชีพพิเศษให้มาพักถาวรที่ประเทศของตน ซึ่งประเทศไทย เมื่อย้อนกลับไปสัก 10 ปีที่แล้ว น่าจะฉวยโอกาสทอง ดึง talent จากประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ด้วยปัญหาระบบกฏหมายที่ล้าหลัง และคนในประเทศที่ยังมีทัศนคติไม่เปิดรับอยู่ ทำให้เราพลาดโอกาสทองนี้ไปแล้ว ในทางตรงกันข้าม ด้วยปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้เรากำลังเสีย talent คนรุ่นใหม่ ให้ต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มีคนกลุ่มนึงรู้สึกว่ามันไม่เป็นปัญหาซะด้วยซ้ำ
    การแก้ปัญหาที่รัฐบาลใช้ อย่างการให้สิทธิต่างชาติซื้อบ้านได้ ถือครองที่ดินระยะยาว ในระยะสั้นอาจได้เม็ดเงินมาหมุนในกลุ่มอสังหาก็จริง แต่ระยะยาว จะทำให้คนรุ่นใหม่ในประเทศไม่สามารถครอบครองอสังหาได้ จากการที่รัฐไปบิดเบือนกลไก demand supply ของระบบ (อย่าอ้างเป็นกลไกของทั้งโลก ชาติอื่นมีเงิน QE เสกแบงค์เข้ามาเก็งกำไรสบาย ในขณะที่คนไทยต้องทำงานแลกมา) ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาให้คนไทยมีบุตรน้อยลงมากขึ้นไปอีกในระยะยาว
  2. การอำนวยความสะดวกให้คนไทยสามารถเลี้ยงดูบุตรของตนเองในที่ทำงานได้ อย่างสิงคโปร์ที่ออกกฏหมายให้ต้องมี nursery ในที่ทำงาน ซึ่งวิธีนี้ ได้ผลกว่าการให้วันลา หรือหักภาษี เพราะคนระดับที่มีความพร้อม ไม่ได้ต้องการหยุดงาน เค้าต้องการทำงาน แต่เค้าก็ต้องการดูแลลูกเองได้ แม้ว่าจะต้องทำงาน (ประชากรไทยในระดับที่มีความพร้อมจะมีบุตร ล้วนอยากดูแลลูกเอง การส่งไปให้พ่อแม่หรือตายายเลี้ยงที่ต่างจังหวัด เป็นตัวเลือกท้ายๆ ที่จะใช้เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นแล้วเท่านั้น) และภาษีที่ลดหย่อนได้ หรือสวัสดิการที่รัฐให้เด็กต่อหัว ยังไม่คุ้มค่าพอกับต้นทุนที่จะเลี้ยงเด็กอย่างมีคุณภาพในสายตาของคนที่มีความพร้อม
  3. แถม จริงๆมีอย่างสุดท้าย ที่พูดง่าย แต่ทำยาก คือทำให้สังคมดี เศรษฐกิจดี คุณภาพชีวิตดี เดี๋ยวคนก็อยากมีลูกเองนั่นแหละ

Share this:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *