อธิบายกลไกการเกิดโรคซึมเศร้าแบบรวบรัดเข้าใจง่ายๆ 5 นาที

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า โรคซึมเศร้า กับ อาการซึมเศร้า นั้นไม่เหมือนกัน

อาการซึมเศร้า คือ การที่เรารู้สึกเศร้า แต่พอเวลาผ่านไป เราจะค่อยๆดีขึ้นด้วยตัวเอง

แต่โรคซึมเศร้าเกิดจากการที่สารสื่อประสาทในสมองมันผิดปกติ ทำให้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็รู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกไร้คุณค่า ไร้ความหมาย

เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งการที่สารสื่อประสาทเราผิดปกติเนี่ย ก็อาจเกิดจากการเผชิญความเครียดความกดดันเป็นเวลานาน โรคเรื้อรังที่เป็น บุคลิกลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ทำให้เครียดหรือผิดหวังได้ง่าย การใช้ยาหรือสารเสพติดบางชนิดรวมถึงแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่กรรมพันธุ์ แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ไม่ว่าต้นตอจะมาจากอะไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันคือ มันทำให้สารสื่อประสาทในสมองเกิดความผิดปกติ

คนเป็นโรคซึมเศร้า จะสัมพันธ์กับสารสื่อประสาทในสมอง 3 ตัว คือ Serotonin, Dopamine และ Norepinephrine โดยมักสัมพันธ์กับการลดลงของ Serotonin และ Dopamine ในสมอง ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทแห่งความสุขทั้งคู่

ต้องเข้าใจก่อนว่าสารแห่งความสุขในร่างกายมีหลายตัว แต่จะให้ความสุขในรูปแบบที่แตกต่างกัน

serotonin จะสุขแบบ รู้สึกดี มีคุณค่า มีความหมาย เป็นคนสำคัญ คนพิเศษ

dopamine จะสุขแบบ ทำอะไรประสบความสำเร็จ สอบติดคณะที่หวัง ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เล่นกีฬาทำลายสถิติที่ตั้งใจไว้

endorphine จะสุขแบบ ฟินๆ เหมือนเวลาออกกำลังกายมาเหนื่อยๆแล้วรู้สึกสดชื่น

oxytocin จะสุขแบบ ความผูกพันธ์ เหมือนแม่กับลูก สบายใจเวลาอยู่กับคนสนิท

แต่ที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลักๆจะมี Serotonin และ Dopamine เท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจหากคนเป็นโรคซึมเศร้าจะรู้สึก ไร้ค่า ไร้ความหมาย หมดความหวัง ไม่มีกำลังใจ ไม่มีเรี่ยวแรงจะต่อสู้

และต้องเข้าใจว่า การที่สารสื่อประสาททำงานได้ต้องมีตัวรับ (Receptor) ถ้าไม่มีตัวรับสารสื่อประสาทก็ทำอะไรเราไม่ได้ เหมือนทำไมเราเอาออกซินซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช มาฉีดในคน ตัวเราถึงไม่เห็นโตขึ้น ก็เพราะว่าเราไม่มีตัวรับฮอร์โมนออกซินเหมือนในพืช (จริงๆฮอร์โมนและสารสื่อประสาทไม่เหมือนกัน แต่การที่จะทำงานได้ ตั้งอาศัยตัวรับเหมือนกัน ดังนั้นจึงยกตัวอย่างฮอร์โมนพืช เพื่อเห็นภาพง่ายๆ เพราะในพืชไม่มีสารสื่อประสาท)

ทีนี้ เวลาสมองเรามีสารสื่อประสาทมากเกินไปหรือขาดสารสื่อประสาท ร่างกายอาจปรับตัวโดยการเพิ่มหรือลดตัวรับสารสื่อประสาทนั้นในสมองก็ได้

ยกตัวอย่าง เวลามีสารสื่อประสาทมากเกินไปแล้วร่างกายพยายามลดตัวรับสารสื่อประสาท เช่น ยาบ้า การกินยาบ้า ทำให้ dopamine เรามีท่วมสมอง ร่างกายเราเลยลดปริมาณตัวรับลง เพื่อไม่ให้รับผลจาก dopamine มากเกินไป ทำให้ในครั้งต่อๆไปต้องใช้ยาบ้าในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจะมีความสุชได้เท่าเดิม

แต่ในกรณีของซึมเศร้านั้นตรงกันข้ามครับ คือ เมื่อสารสื่อประสาทอย่าง serotonin และ dopamine ลดลง ร่างกายเราปรับตัวด้วยการลดตัวรับสารสื่อประสาทนั้นลง พอตัวรับลด ก็มีความสุขได้น้อยลง เมื่อไม่มีความสุข serotonin หรือ dopamine ก็ยิ่งน้อย พอยิ่งน้อยตัวรับก็ยิ่งลด เหมือนหัวรถจักรที่เคลื่อนที่แบบอัตราเร่งไปเรื่อยๆ คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจึงไม่รู้สึกมีความสุขเลย แม้ว่าจะพยายามทำสิ่งที่ชอบขนาดไหนก็ตาม

การรักษา

วิธีรักษาใช้กันมากที่สุดคือ กินยา หลักการของยาต้านซึมเศร้า จะเหมือนๆกันหมด คือไปเพิ่มสารสื่อประสาทที่เราขาดในสมอง แต่ไม่ใช่ว่าเพิ่มแล้ว จะหายเลย ไม่ใช่ มันต้องใช้เวลา เพราะตัวรับมันหายไปเยอะแล้ว ต่อให้มีสารสื่อประสาทที่ขาดท่วมสมอง เมื่อไม่มีตัวรับก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องใช้ยาให้มีสารสื่อประสาทที่ขาดท่วมอยู่ในสมอง จนตัวรับค่อยๆฟื้นตัวกลับมา ซึ่งอาจต้องใช้เวลา เป็นเดือน เป็นปี ดังนั้นจึงต้องอดทนครับ เพราะการรักษานั้นใช้เวลา นอกจากนี้การที่ยาต้านซึมเศร้ามักไปยุ่งกับสารสื่อประสาทในสมองทำให้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก หลายคนทนผลข้างเคียงไม่ไหว บวกกับทานยาแล้วรู้สึกไม่ดีขึ้นสักที เลยถอดใจไปซะก่อน ความจริงแล้วมันดีขึ้นครับ เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาสัก 2 เดือน จึงจะเริ่มเห็นผล ส่วนผลข้างเคียงบางอย่างเมื่อทานยาไปนานๆ เราจะค่อยๆทนต่อผลข้างเคียงได้เอง แต่หากทนไม่ไหวก็บอกหมอที่ทำการรักษาเพื่อเปลี่ยนยาที่ใช้ในการรักษาได้ครับ

มีหนังสือเกี่ยวกับซึมเศร้าดีๆไหม

มีหนังสือหลายเล่มเหมือนกันที่เขียนเกี่ยวกับซึมเศร้าไว้ เนื้อหาก็มีตั้งแต่เบาๆอ่านสบายๆจึงถึงค่อนข้างหนักออกแนววิชาการนิดๆ

เล่มแรก ฮาวทู(ซึม)เศร้า คู่มือคนเศร้าฉบับอ่านสนุกที่สุด

เล่มนี้จะจะเบาๆ เหมือนมีเพื่อนที่มีประสบการณ์เดียวกันคอยอยู่เคียงข้าง เนื้อหาเข้าใจง่าย แฝงด้วยแง่คิด

เล่มสอง เป็นคนธรรมดาแต่ว่า…ซึมเศร้านิดหน่อย

เล่มที่สองนี้ จะออกแนวอ่านเพลินๆ เป็นเรื่องราวของนักดนตรีสาวที่เผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้ามานานนับสิบปี จนตัดสินใจเขารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชและเขียนเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด

เล่มที่สาม ซึมเศร้า เล่าได้

เล่มนี้เรียบเรียงได้ค่อนข้างดี โดย plot เรื่องทุกคนจะร่วมเดินทางไปกับ “ฉัน” และเจ้าแมวดำ หางขดที่ชื่อ “ตัวเศร้าซึม” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรคซึมเศร้า ที่จะพาไปรู้จักและทำความ เข้าใจ “โรคซึมเศร้า” ตั้งแต่อาการบอกเหตุ การประเมินเบื้องต้น หนทางการรักษา ไปจนถึง การรับมือกับคนใกล้ตัวที่เป็นโรคนี้ ด้วยภาษาและภาพประกอบอ่านง่าย เป็นมิตร พร้อม คำแนะนำที่ปฏิบัติได้จริง

เล่มที่ 4 คู่มือเอาชนะภาวะสติแตก

เล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับซึมเศร้าโดยตรง แต่จะโฟกัสไปที่อาการ panic และอาการวิตกกังวลต่างๆ เล่มนี้เนื้อหาจะค่อนข้างเข้มข้นกว่า 3 เล่มแรก เขียนโดย “ดร. แคลร์ วีกส์” แพทย์ผู้บุกเบิกด้านการรักษาอาการวิตกกังวลตามหลักการบำบัดความคิดและพฤติกรรม ซึ่งจะช่วยบอกเราว่าจะรับมืออาการวิตกกังวลต่างๆได้อย่างมีสติได้อย่างไร

เล่ม 5 ศาสตร์และศิลป์การบำบัดดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า

เล่มนี้เขียนโดย รศ.ดร. สายฝน เอกวรางกูร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิตโดยตรง เนื้อหาเล่มนี้จะค่อนข้างหนักสักหน่อย เนื้อหาครั้งแรกมุ่งทำความเข้าใจหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุ เนื้อหาครั้งหลังเป็นการปฏิบัติการบำบัดดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า โดยมุ่งหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อการบำบัดดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้า

 


Share this:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *