เชื้อดื้อยา กับการคัดเลือกตามธรรมชาติ

เมื่อเร็วๆ คงไม่มีข่าวไหนที่สั่นสะเทือนวงการสาธารณสุขไปกว่าข่าว สหรัฐ เจอเชื้อที่ดื้อยาทุกชนิดในโลก  ในเนื้อหาข่าวระบุว่า พบผู้ป่วยหญิงอายุ 49 ปี ที่รัฐเพนซิลเวเนีย มาพบแพทย์ด้วยอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเชื้อ E. coli ทุกอย่างควรจะเรียบร้อยหลังจากเธอได้รับยาปฏิชีวนะ เธอควรจะดีขึ้น เหมือนผู้ป่วยรายอื่นๆที่ติดเชื้อแบบเดียวกันกับเธอ โชคร้ายที่ไม่เป็นเช่นนั้น แพทย์พยายามใช้ยาฆ่าเชื้อทุกอย่างที่มีในโลก รวมถึงยา Colistin ที่เปรียบเสมือน Superweapon ในการต่อกรกับเชื้อแบคทีเรีย แต่ทุกอย่างก็ไร้ผล เชื้อดื้อยาทุกชนิดในโลกได้ถือกำเนิดขึ้น ยาปฏิชีวนะที่เป็นพระเอกของการแพทย์แผนปัจจุบันมาเกือบศัตวรรษกำลังจะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป นับเป็นฝันร้ายของวงการแพทย์อย่างแท้จริง

หากมองย้อนกลับไปก่อนมียาปฏิชีวนะ กาฬโรค จากแบคทีเรีย Yersinia pestis เป็นโรคระบาดที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมาแล้วหลายล้านคนทั่วโลก หรือในไทยก็เคยเกิดโรคอหิวา(โรคห่า)ระบาด เรียกได้ว่าโรคห่าไปเยือนที่ไหน สามารถเปลี่ยนให้ที่นั่นเป็นหมู่บ้านร้างได้เลย ดังนั้นเมื่อยาปฏิชีวนะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ความเป็นไปได้ที่ภาพเก่าๆอันน่ากลัวเหล่านี้จะกลับมาก็มีไม่น้อยเลยทีเดียว แต่นี่ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่มียาปฏิชีวนะอีกต่อไป การผ่าตัดต่างๆที่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้ออ อาจทำไม่ได้อีกต่อไป หรือต้องทำในสภาวะที่สะอาดมากๆ และหากมีอะไรผิดพลาดนิดเดียวนั่นหมายถึงจะเกิดการติดเชื้อร้ายแรงตามมา การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่ต้องใช้ยากดภูมิต้านทาน ก็อาจทำไม่ได้อีกต่อไป ยังไม่รวมถึงผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด ที่จะมีช่วงเวลาที่ภูมิคุ้มกันลดต่ำลงอย่างมาก หากผู้ป่วยเหล่านี้ติดเชื้อแล้วไม่มียาปฏิชีวนะ สู้ไม่รักษาเลยยังจะดีซะกว่า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าข่าวนี้จะเป็นข่าวดัง แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบเชื้อที่ดื้อยาทุกขนาน ก่อนหน้านี้ก็เคยพบเชื้อดื้อยาที่จีนเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ข่าวนี้จะดังสักหน่อยเพราะมันเกิดขึ้นที่อเมริกา ซึ่งได้ขึ้นชื่อว่ามีระบบการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกเท่ๆว่า antibiotics smart use ได้ดีที่สุดแห่งนึงของโลก

แล้วมันเกี่ยวยังไงกับการคัดเลือกตามธรรมชาติ ?

ทุกสิ่งย่อมมีวิวัฒนาการ และหนึ่งในทฤษฎีการวิวัฒนาการที่ได้รับการยอมรับคือ “ทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติ” ของชาร์ล ดาวิน แบคทีเรียก็เหมือนกันครับ เมื่อเราเอายาฆ่าเชื้อไปฆ่ามัน มันก็ต้องมีตัวที่เก่งที่สามารถอยู่รอดได้ และเมื่อตัวที่อยู่รอดมันขยายเผ่าพันธ์ ลูกๆหลานๆของมันก็ได้ยีนที่สามารถทนต่อยาฆ่าเชื้อมาด้วย ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น และไม่ถูกต้อง ก็เหมือนเป็นการเร่งให้มีเจ้าตัวที่เก่งๆแบบนี้ เกิดขึ้นเร็วกว่าที่ควรจะเป็นมาก และประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็น และไม่ถูกต้อง มากที่สุดแห่งนึงของโลก

ในสมัยดึกดำบรรพ์นั้นคาดการณ์กันว่า แค่การเป็นหวัดธรรมดา ก็ทำให้ป่วยหนักถึงขั้นตายได้ แต่ตัวเราเองก็มีวิวัฒนาการเหมือนกัน คนที่สามารถต้านทานโรคเท่านั้นที่จะมีชีวิตและมีโอกาสให้ส่งมอบยีนนั้นให้กับคนรุ่นถัดๆไป แต่ในขณะที่เราวิวัฒนาการเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคนั้น เจ้าเชื้อโรคมันก็วิวัฒนการตัวเองมาเรื่อยๆเหมือนกัน อย่างไรซะ ยาปฏิชีวะนะทำให้เราไม่ต้องวิวัฒนาการเพื่อสู้กับแบคทีเรียอีก ซึ่งทำให้เรารักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ไว้ได้มหาศาล แต่มองอีกมุมก็เหมือนกับว่าการวิวัฒนาการในเรื่องนี้เราหยุดไปประมาณ 100 ปีนับตั้งแต่มียาปฏิชีวนะเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มียาปฏิชีวนะ แบคทีเรียมันวิวัฒนาการมาเพื่อสู้กับยาปฏิชีวนะ

หากจะลองมองย้อนกลับไปยาปฏิชีวนะก็เกิดจากการเอาสารเคมีของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อยับยั้งสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง แต่บังเอิญว่าสิ่งนั้นก็ยับยั้งสิ่งมีชีวิตที่ก่อโรคกับเราได้เหมือนกัน เราเลยเอามาสิ่งมีชีวิตนั้นมาสกัด ปรับปรุง ดัดแปลง จนได้ยาปฏิชีวนะ หากมองเป็นสงครามจำลองระหว่างสิ่งมีชีวิต กับยาปฏิชีวนะ ก็เหมือนฝั่งนึงปรับปรุงตัวเองตลอด หลังจากที่ตายๆกันมาหลายรุ่น แต่อีกฝั่งแทบไม่มีการเปลี่ยนสารเคมีที่ใช้เลย คงมองออกนะครับ อนาคตใครจะชนะ เราอาจให้ความหวังกับคิดค้นยาใหม่ แต่ข่าวร้ายก็คือการคิดค้นยาใหม่ มีกฏระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ใช้ยา ดังนั้นจึงต้องผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน กว่าจะได้ทดลองในมนุษย์ จนวางขายจริงๆ ก็กินเวลาเฉลี่ยไปประมาณ 15 ปี ต่อยา 1 ตัว ยังไม่นับข้อกฏหมายที่เข้มงวด และกำแพงหินหนาในการควบคุมระบบยาของแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้ล่าช้าออกไปอีก อีกอย่างเงินทุนในการวิจัยก็สูงมาก กว่าจะได้มาสักตัว ใช้เงินกันเป็นหลักพันล้านเหรียญ และข่าวร้ายสุดท้ายก็คือ ไม่ค่อยมีบริษัทยาลงทุนวิจัยยาในพวกยากลุ่มนี้เท่าไรนัก เพราะ เมื่อวิจัยออกมา ก็โดนเก็บขึ้นหิ้ง ไม่มีใครอยากเอาออกมาใช้ เพราะอยากเก็บไว้เป็นไม้ตายเวลาเจอเชื้อดื้อยา ทำให้เมื่อยาอยู่ในหิ้งก็ไม่ได้คนใช้ เมื่อไม่มีคนใช้ก็ขายไม่ได้ พอขายไม่ได้แต่อายุสิทธิบัตรมันลดลงเรื่อยๆทุกวัน ดีไม่ดี ยังไม่ทันได้ขายในตลาด mass สิทธิบัตรหมดอายุซะก่อน ดีไม่ดี เจอก็อปปี้ยาอีก สู้เอาเงินไปวิจัยพวกยากลุ่ม metabolic หายาเบาหวาน ความดัน หรือแม้แต่เอดส์ มะเร็ง ยาจิตเวช คนไข้ยังต้องใช้นานกว่า ดีไม่ดีต้องใช้ไปตลอดชีวิต แถมยังขายได้ราคามากกว่า ทำกำไรได้ดีกว่าด้วย อย่างไรเสีย ก็ไม่แน่นะครับ ถึงจุดๆนึงที่คนจำนวนมากยอมจ่ายอย่างไม่อั้น เพื่อให้ได้ยาปฏิชีวนะที่รักษาโรคของตัวเองได้ ถึงเวลานั้น เราคงได้ยาปฏิชีวนะชื่อใหม่ๆ กลุ่มใหม่ๆ ออกมากันมากกว่านี้ แต่อย่างไรซะผมก็ไม่คิดว่านี่เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอยู่ดี

ส่วนตัวผมเองนะครับ เห็นว่าการแก้ปัญหาชีวภาพด้วยวิธีทางเคมีจะก่อให้เกิดปัญหาทางชีวภาพไ่ม่รู้จบ ยังจำกรณีของ GMO ได้ไหมครับ ลองย้อนกลับมาดูว่า เรามาถึง GMO ได้อย่างไรกัน

เริ่มแรก เกิดจากพืชผลทางการเกษตรเสียหายด้วยโรคพืชและแมลงจำนวนมาก และตลาดก็ไม่ต้องการพืชผลทางการเกษตรที่มีตำหนิ ยาปฏิชีวนะบางตัวถูกเลือกเพื่อให้ใช้ทางการเกษตรโดยเฉพาะ รวมถึงยาฆ่าแมลงต่างๆที่ถูกส่งมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเกษตร สุดท้ายเทพที่ชื่อมนุษย์ก็สร้างเชื้อดื้อยาที่ทนต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการเกษตรทุกขนาน สร้างแมลงที่ทนทาญาติต่อยาฆ่าแมลง เมื่อไม่มียาที่ใช้ได้ผลอีกต่อไป หวยก็เลยที่วิธีการแก้ไขทางชีวภาพ ซึ่งก็ GMO นั่นแหละ แต่ช้าก่อน ผมไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับ GMO นะครับ การส่งสิ่งมีชีวิตที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมจนสมบูรณ์แบบ เรียกได้ว่าไม่รู้ว่าอีกกี่พัน กี่หมื่นปี สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นจะวิวัฒนาการได้ขนาดนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ มาสู่สิ่งแวดล้อมจะเป็นความคิดที่ดีสักเท่าไร เมื่อเร็วๆนี้ก็มีพบหลักฐานที่ทำให้คาดการณ์กันว่า เชื้อไวรัสซิก้าที่ระบาดในบราซิลอยู่ทุกวันนี้เกิดจากเชื้อไวรัสซิก้าที่ไปกลายพันธุ์ในท้องของยุงที่ทำ GMO ให้เป็นหมัน เพื่อควบคุมประชากรของยุง ถ้าหลักฐานนี้เป็นจริงละก็ ถือได้ว่าเป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงว่าการส่งสิ่งมีชีวิตที่ตัดต่อพันธุกรรมสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อสมดุลของชีวภาพทั้งระบบอย่างคาดเดาไม่ได้

ย้อนกลับมาดูทางด้านยาปฏิชีวนะในคนกันบ้าง ตอนนี้อะไรๆก็ดูสิ้นหวังนะครับ การวิจัยยาทำได้ช้าและไม่น่าทันกับเชื้อที่ธรรมชาติคัดสรรมาแล้วว่าให้อยู่รอดในยุคของยาปฏิชีวนะ, antibiotic smart use ที่สามารถใช้ถ่วงเวลาระเบิดเวลาลูกนี้ก็ดูยังไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้งผู้สั่งใช้ยา รวมถึงผู้ป่วยเองเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทย ผมจำได้ว่าตอนปี 2012 ผมเปิด sanford guideline ยังเห็นสีเขียวอยู่ครึ่งตาราง ตอนนั้นผมคิดว่าเราคงมีเวลาอีกสัก 10 ปี แต่พอมาเปิดปี 2015 เห็นสีแดงที่แสดงถึงเชื้อดื้อยาไปค่อนตารางแล้ว เรียกได้ว่ามันมาไวกว่าที่ผมคาดคิดกันไว้มากๆ แล้วอะไรละที่พอจะเป็นทางออกได้บ้าง

ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ ก็คงเป็นการฝากความหวังไว้กับการให้บริษัทยาต่างๆเร่งวิจัยยาใหม่ๆออกมาให้ได้เร็วที่สุด ถ้าหากไม่ทันจริงๆ ผมคิดว่า เราอาจต้องใช้วิธีการทางชีวภาพสร้าง antibody เลียนแบบ antibody ของร่างกายเราที่ใช้จัดการกับเชื้อจำเพาะเจาะจงนั้นมาจัดการ ก็น่าจะพอช่วยได้บ้าง แต่ค่าใช้จ่ายคงแพงมหาศาล และคงไม่ใช้ทุกเชื้อที่ใช้วิธีนี้ได้ อีกอย่างเชื้อบางสายพันธุ์ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ และกลายพันธุ์ได้ง่ายก็คงใช้วิธีนี้ได้ยาก ยังไม่ต้องคิดเวลาที่ถูกเสียไปเพื่อพิสูจน์ว่าใช่เชื้อนั้นจริงๆไหม ก่อนจัดการด้วย antibody ที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อนั้นอีก จะว่าไป หากเกิดเชื้อดื้อยาทุกชนิดขึ้นมาเยอะๆ มนุษย์เองก็ยังมืด 8 ด้านกับการหาวิธีรับมือนะครับ แต่ระดับมนุษย์แล้ว คงต้องมีคนเก่งๆที่หาวิธีแก้ปัญหาได้แน่ๆ

สุดท้ายนี้ หากเรายังละเลย ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น เราคงต้องย้อนไปดูว่า ในพืช เราต้องเอา GMO มาช่วยแก้ปัญหาใช่ไหม แล้วในอนาคตล่ะ เราจะสู้กับแบคทีเรียที่มีวิวัฒนาการนำภูมิคุ้มกันของเราไป 100 ปี ได้หรือเปล่า หรือดีไม่ดี เราเองนั้นแหละ ที่จะต้องตัดต่อพันธุกรรมตัวเอาเพื่อเอาชนะการวิวัฒนาการ ให้เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่รอด

koli-bacteria-123081_960_720


Share this:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *