ปลานิล ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ จริงไหม?

ในเหล่าบรรดาปลา Alien species ทั้งหมด ปลานิลดูจะเป็นปลาชนิดเดียว ที่ดูจะเป็นผู้ร้ายน้อยที่สุด ทั้งๆที่ทุกคนต่างก็ยอมรับว่ามันเป็น Alien species อาจเป็นเพราะมันเป็นปลาที่หาง่าย เนื้ออร่อย และสร้างผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยมหาศาล ด้วยมูลค่าการส่งออกที่สูงลิ่ว จนหลายมองว่ามันมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และมองข้ามผลกระทบต่อระบบนิเวศไป แต่ถ้าเรามาโฟกัสกันที่ผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างเดียวล่ะ ปลานิลจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศมากน้อยขนาดไหน จะเหมือนปลาดุกบิ๊กอุยที่กำลังมีประเด็นดราม่ากันอยู่ไหม หรือว่าเหมือนปลาซัคเกอร์ที่เคยปวดหัวกันถึงขั้น ต้องระดมสมองใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างเมนูมาเพื่อช่วยกันกินลดจำนวนมันโดยเฉพาะ

อันที่จริงแล้ว นักอนุรักษ์ก็เถียงกันมานานครับว่า จริงๆปลานิลมันสร้างผลเสียต่อระบบนิเวศมากน้อยขนาดไหน ดังนี้

  1. ปลานิลเป็นปลาที่หากินเก่ง และขยายพันธ์ุได้ดี แต่ไม่ได้กินปลาท้องถิ่นแบบเฉพาะเจาะลง คือมันทำลายระบบนิเวศด้วยการแย่งอาหารปลาท้องถิ่น ซึ่งปลานิลมันก็กินเก่งและเพิ่มจำนวนไว เป็นไปได้ว่าปลาท้องถิ่นที่กินอาหารคล้ายๆปลานิลจะได้รับผลกระทบ จากการขาดอาหารที่โดนปลานิลแย่ง
  2. ปลานิลเข้ามาในไทย 50 ปีแล้ว ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้จักคำว่า alien species ทำให้ไม่ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบของปลานิลในช่วงแรกๆที่เข้ามาเลย การมาศึกษาตอนนี้ก็ยากแล้ว เพราะมันเป็นส่วนนึงของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศใหม่ไปแล้ว
  3. การที่ปลานิล ไม่ได้ทำลายปลาท้องถื่นแบบเฉพาะเจาะจง ทำให้การทดลองโดยการนำปลาท้องถิ่นชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นตัวแทนที่ใช้ในการศึกษายาก และการลดลงของปลาท้องถื่นทั้งหมด ก็ยากจะบอกว่ามาจากปลานิลหรือมาจากส่วนประกอบอื่นด้วย (ควบคุมตัวแปรในการศึกษายาก) ยกตัวอย่างง่ายๆ ปลาซัคเกอร์เกอร์กินไข่ปลา ทำให้ปลาท้องถื่นบางชนิดหายไปอย่างรวดเร็ว แต่ปลานิลไม่ได้เฉพาะเจาะจงแบบนั้น บวกกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ทำให้มีความยืดหยุ่นทางชีวภาพสูง มี alien species เข้ามาสักบ้าง ระบบนิเวศก็พอรับไหว ไม่เหมือนบางที่ๆระบบนิเวศเปราะบางมาก เจอ alien species แค่ชนิดเดียว อาจเป็นหายนะถึงขั้นสูญพันธ์ครั้งใหญ่ได้เลย  ส่งผลให้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนาน 10 20 ปี ในระบบนิเวศที่ไม่ถูกรบกวนจากสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ เช่น สร้างเขื่อน ปลาท้องถิ่นหน้าเดิมๆก็ยังอยู่กันครบ แต่จำนวนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจำนวนที่เปลี่ยนแปลง ก็บอกไม่ได้ว่า ปลานิลมีผลขนาดไหน หลายคนเชื่อว่า ปัจจัยอื่นของมนุษย์มีผลมากกว่า หรือในบางครั้งผลการศึกษาก็ออกมาแบบงงๆ เช่น ปลานิลกินอาหารคล้ายปลาตะเพียน ทำให้เชื่อว่าปลานิลพออยู่กับปลาตะเพียน จะแย่งอาหารปลาตะเพียน ทำให้ปลาตะเพียนไม่โต และลดจำนวนลง แต่พอศึกษาศึกษาจริงๆ ดันกลายเป็นปลานิลที่ไมโต และไม่เพิ่มจำนวน แพ้ปลาตะเพียนซะงั้น
  4. มีการศึกษาว่า การปล่อยปลานิลจำนวนมาก ในระบบนิเวศปิด ที่มีความยืดหยุ่นทางชีวภาพต่ำ ทำให้ปลาท้องถิ่นบางชนิดสูญพันธ์จริง  แต่ในทางกลับกัน การปล่อยปลาท้องถิ่นจำนวนมาก ลงในระบบนิเวศแบบเดียวกัน ก็ทำให้ปลาท้องถิ่นบางชนิดสูญพันธ์ได้เหมือนกัน
  5. ปลานิล ไม่ได้เป็น alien ที่ไม่มีศัตรูตามธรรมชาติเลย แต่ปลาท้องถิ่นหลายชนิดก็ล่าปลานิล หรือลูกปลานิล เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาเค้า ปลากระพง ปลาบู่ หรือแม้แต่ปลากราย ก็เป็นศัตรูตามธรรมชาติที่คอยควบคุมประชากรของปลานิล
  6. ปลานิลไม่ได้เป็น alien species ที่ไม่มีจุดอ่อนเลย อันที่จริง ปลานิลมีจุดอ่อนหลายจุด คือ ปลานิล ชอบน้ำนิ่ง แต่แพ้น้ำเชี่ยว ทำให้ไม่สามารถขยายพันธุ์ไปในบริเวณที่น้ำไหลแรงๆได้ (แต่สิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ ทำให้น้ำนิ่งมีมากขึ้น ทำให้ปลานิลระบาดได้ในวงกว้างมากขึ้น) นอกจากนี้ ปลานิลแพ้น้ำเพิ่มหรือลดเร็วๆ ไม่เหมือนปลาท้องถิ่นของไทยหลายๆชนิดที่เคยชินกับการที่ไทยน้ำเยอะในฤดูฝน แต่อาจแล้งถึงขั้นแห้งคอดในฤดูแล้ง (ปลาท้องถิ่นไทยหลายชนิดอย่างปลาช่อน ปลาหมอ ปลาดุก มุดดินจำศีลได้หนีแล้งได้ แต่ถ้าน้ำแห้ง ปลานิลตายแน่นอน)
  7. บางคนเชื่อว่า ปลานิลเป็น alien ที่มีประโยชน์อยู่บ้าง เพราะไม่ใช่ Invasive alien species เต็มขั้นแบบปลาดุกบิ๊กอุย หรือปลาปลาซัคเกอร์เกอร์ แม้ว่าจะแย่งอาหารปลาท้องถิ่น แต่ก็กินผักตบชวา ตะไคร้น้ำ และช่วยควบคุมประชากรของยุง แต่ก็มีการศึกษาว่า ปลานิลกินไข่และลูกปลาท้องถิ่นบางชนิดด้วยจริง แต่ผลกระทบสุดท้าย ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะมันกินไปทั่ว ทั้งพืชและสัตว์

สรุป ผลกระทบ ไม่ชัดเจน ศึกษายาก เนื่องจากตอนเข้ามาในประเทศ เรายังไม่รู้จักคำว่า alien species กว่าเราจะรู้จัก มันก็แพร่พันธุ์และเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศใหม่ไปแล้ว

ทีนี้ คำถามต่อมาคือ ปล่อยปลานิลได้ไหม

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทำให้ alien species หลายชนิด ยังพอถูกควบคุมได้ ไม่ได้พังทีเดียวเหมือนเกาะบางเกาะ อย่างเกาะกวม ที่ไม่เคยมีงู พอมีงูโผล่เข้าไป ก็ชิบหายกันทั้งเกาะ ตัวอย่างความยืดหยุ่นทางชีวภาพที่ช่วยควบคุม alien species เช่น ปลาซัคเกอร์ มักเจอตามแหล่งน้ำปิด แหล่งน้ำเน่า คลองที่มีประตูระบายน้ำเท่านั้น ไม่ได้ระบาดไปทั่วแบบอิสระ เพราะจุดอื่นมีกระบวนการทางชีวภาพที่คอยควบคุมไว้ได้

อีกเรื่องที่ต้องเข้าใจก่อนคือ ระบบนิเวศน้ำจืดแบบเดิมๆของไทย จะเป็นระบบนิเวศแบบน้ำไหล หรือน้ำนิ่ง สลับกับน้ำท่วมขังตามฤดูกาล แต่พอเราไปสร้างเขื่อน สร้างฝาย อ่างเก็บน้ำ ประตูน้ำ ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยน กลายเป็นน้ำนิ่ง ไม่มีน้ำท่วมทุ่ง ผลคือเกิดการระบาดของปลาชะโด ซึ่งเป็นปลานักล่าระดับ top ของห่วงโซ่อาหารในแหล่งน้ำ แม้ว่าปลาชะโดจะเป็นปลาท้องถื่นของไทย แต่ปลาชะโดจะชอบน้ำนิ่งที่เปิดโล่ง เพราะสามารถขยายพันธุ์ได้ในน้ำนิ่ง  ดังนั้นในระบบนิเวศตามธรรมชาติแบบเดิมๆ ปลาชะโดจะอยู่ได้ในวงจำกัด นอกจากนี้ อาหารของปลาชะโด อย่าง ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาขาว ปลาตะเพียน ล้วนเป็นปลาที่ไม่สามารถขยายพันธ์ุได้ในแหล่งน้ำนิ่ง พอเกิดการบังคับให้น้ำนิ่งด้วยมนุษย์ อย่างการสร้างฝาย สร้างเขื่อน จึงทำให้เกิดการระบาดอย่างหนักของปลาชะโด ปลาท้องถิ่นอื่นๆหายเรียบ นอกจากนี้การสร้างเขื่อน หรือการสร้างตลิ่ังชันๆ ที่ไม่มีพื้นที่น้ำตื้น พืชชายน้ำ ซึ่งเปรียบเสมือนที่หลบภัย และที่ทำรัง ส่งผลให้ปลาท้องถิ่นอื่นๆ ไม่มีที่หลบภัยจากปลาชะโดเลย จะสืบพันธุ์ก็ลำบาก ผลคือปลาชะโดยึดแหล่งน้ำพวกนี้เรียบ ทีนี้มันเกี่ยวกับการปล่อยปลานิลยังไง ที่ผมจะบอกก็คือ พวกพื้นที่น้ำนิ่ง ไม่มีตลิ่ง ไม่มีพืชน้ำ ไม่มีน้ำท่วมทุ่ง ให้หลบภัยและสืบพันธุ์ แต่ปลานิลสามารถขยายพันธุ์ในพื้นที่เหล่านี้ได้ ดังนั้นการที่มีปลานิลเข้าไปอยู่ ก็ช่วยเติมเต็มระบบนิเวศของเราตรงนี้ ที่ปลาท้องถิ่นส่วนใหญ่เราทำไม่ได้ อย่างน้อยก็มาเป็นแหล่งอาหารชดเชยปลาท้องถิ่นของเราที่หายไปจากระบบนิเวศเดิมที่ถูกมนุษย์เปลี่ยนแปลง

อีกอย่างนึงคือ ปลานิล เป็น alien species ที่สามารถขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ ดังนั้น เราจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของปลานิล ด้วยการไม่ปล่อยปลานิลเพิ่มได้ เพราะมันสามารถเพิ่มจำนวนได้ตามธรรมชาติของมันอยู่แล้ว และเราคงไม่สามารถไปไล่จับมันทุกตัวได้ มันไม่เหมือนปลาดุกบิ๊กอุยที่ทุกตัวเป็นหมัน การไม่ปล่อยเพิ่ม จึงสามารถแก้ปัญหาการระบาดของปลาดุกบิ๊กอุยได้ เพราะถ้าไม่มีการปล่อยเพิ่ม ตัวก่อนๆมันก็ค่อยๆตายไปเรื่อยๆเอง โดยไม่มีการเพิ่มจำนวน

อ้าวแบบนี้ เราก็ปล่อยปลานิลได้ ไม่มีปัญหาสิ ในเมื่อปล่อยไป นอกจากจะมาทดแทนมาปลาท้องถิ่นที่หายไปในน้ำนิ่งแล้ว ยังไม่มีผลกระทบอะไรเพิ่ม เพราะมันอยู่มานานแล้ว ปล่อยหรือไม่ปล่อยเพิ่ม ก็ไม่ได้ต่างกันมาก

ช้าก่อนครับ จริงอยู่ที่การไม่ปล่อยเพิ่ม ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาได้มาก แต่การปล่อยเพิ่ม ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาเช่นกัน อันที่จริง ต้องบอกว่าการไม่ปล่อยเพิ่ม จริงๆก็ช่วยอยู่เหมือนกัน อธิบายได้ดังนี้ครับ

ตามทฤษฎีแล้ว alien species เมื่อเข้ามาแรกเริ่มจะไม่มีโรคหรือศัตรูตามธรรมชาติเลย ทำให้ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่พอเวลาผ่านไป โดยเฉพาะในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความยืดหยุ่นสูง สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นจะเริ่มปรับตัวเข้ากับสมาชิกใหม่ และเริ่มมีกระบวนการควบคุม หรือเอาตัวรอดจาก alien species ซึ่งปลานิลอยู่มานานแล้ว จึงเกิดศัตรูตามธรรมชาติของปลานิลในระบบนิเวศใหม่ที่มีปลานิลเป็นสมาชิกแล้ว และยิ่งนานไป หาก alien species ไม่มีสมาชิกเข้ามาเพิ่ม สมาชิกรุ่นหลังๆจะยิ่งอ่อนแอ เพราะมันเกิดการผสมพันธุ์ของพันธุกรรมเดิมๆซ้ำๆ ทำให้รุ่นลูก รุ่นหลาน อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ (เหมือนแต่งงานกันเองในครอบครัว ลูกหลานก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ แบบเดียวกันครับ) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ หอยเชอรี่ ที่พอไม่มีสมาชิกใหม่เข้ามา แม้ช่วงแรกๆอัตราการทำลายจะสูง แต่นานวันไป ก็อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ (บวกกับโดนคนล่ามากินด้วย เลยยิ่งลดความหลากหลายเร็วไปอีก) ในทางกลับกัน เราปล่อยปลานิลเพิ่มเข้าไป ก็เท่ากับไปช่วยเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้ปลานิล ทำให้ลูกหลานของปลานิล แข็งแรง ไม่อ่อนแอลงตามกาลเวลา ยิ่งในช่วงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกเกิดขึ้นเร็วมากอย่างในปัจจุบันนี้ ความหลากหลายทางพันธุกรรมจะมีผลอย่างมากต่อความอยู่รอดของทุกๆ species เพราะยิ่งมีความหลากหลายมาก ก็ยิ่งปรับตัวได้เก่ง (ยกตัวอย่าง แมลงสาบ ที่แต่ก่อน โดนยาฆ่าแมลงก็ตายง่ายๆ แต่เดี๋ยวนี้อึดขึ้น ตายยากทุกวัน เพราะตัวที่มียีนทนยาฆ่าแมลง พอมันรอดไปได้ มันก็ไปผสมพันธุ์ต่อ ลูกหลานก็มียีนทนยาฆ่าแมลงกันหมด เป็นการคัดเลือกตามธรรมชาติ)

ดังนั้น ถ้าถามผมว่า ควรปล่อยปลานิลดีไหม ผมขอตอบว่า “ถ้าเป็นไม่ได้ ก็ไม่ควรปล่อยเพิ่ม จะดีต่อระบบนิเวศของเราที่สุด เพราะอย่างไรเสีย มันก็คือ alien species แม้วันนี้ มันยังไม่สร้างปัญหาอย่างเด่นชัด แต่การมี species ใด species นึง ขยายพันธุ์เกินกว่าความยืดหยุ่นที่ระบบนิเวศจะรับได้ ย่อมไม่เกิดผลดีอย่างแน่นอน”

สุดท้ายนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ส่งผลให้มีความหยืดหยุ่นทางชีวภาพสูง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของเรานั้น ลดน้อยลงไปทุกวัน ทั้งจากธรรมชาติ จากฝีมือมนุษย์ทั้งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ทั้งจาก alien spcies เอง ทำให้ระบบนิเวศเราค่อยๆอ่อนแอลงไปทีละนิด ดังนั้นเราไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท คอยดูแลรักษาต้นทุนทางชีวภาพเหล่านี้ไว้ให้ดีๆ เพราะยิ่งความหลากหลายทางชีวภาพลดลงไปมากเท่าไร โอกาสที่จะเกิดการล่มสลายของห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศอันซับซ้อนก็มีมากขึ้นเท่านั้น และการล่มสลายนี้เหมือนหัวรถจักรที่ถ้าเราไม่ดับเครื่อง มันก็จะเพิ่มความเร็วด้วยอัตราเร่งที่สูงมากขึ้นไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันย้อนกลับมาได้


Share this:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *