เราจะแก้ปัญหาการเผาไร่อ้อยได้อย่างไร ในทางเศรษฐศาสตร์

เป็นที่ทราบกันดีกว่า การเผาเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น pm 2.5 ที่กำลังสร้างปัญหาอยู่ในขณะนี้ และการเผาไร่อ้อยก็เป็นหนุ่งในนั้น คำถามคือ ทำไมต้องเผา และเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

การเผาไร่อ้อย

การเผาไร่อ้อยทำเพื่อกำจัดใบอ้อยให้หายไป เพื่อความสะดวกในการตัด ซึ่งจะทำในช่วงฤดูเปิดหีบอ้อย ซึ่งจะกินระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ถึง 4 เดือนครึ่ง ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ช่วงประมาณธันวาคม ถึง เมษายน ของทุกปี

วิธีการเผานั้นมักเริ่มจากเผาต้นอ้อยรอบแรก เพื่อให้ตัดได้ง่าย จากนั้นก็จะเผาใบอ้อยที่เหลืออีกรอบ แต่หากมีการตัดสดในรอบแรก หลังจากตัดและนำอ้อยออกจากแปลงแล้ว ก็จะมีการเผาเศษใบอ้อยที่เหลือ ยกเว้นบางแปลง จะมีการใช้เครื่องมาม้วนพันใบอ้อยที่เหลือเป็นม้วนขนาดใหญ่ แล้วนำไปขายเพื่อเป็นเชื้อเพลิง

การเผาไร่อ้อยก่อนตัดมีข้อดีคือ แรงงานตัดได้ง่าย ประหยัดค่าแรงและเวลา โดยเฉพาะบางแปลงที่ต้องเร่งตัดให้ทันช่วงเวลาหีบอ้อย (อย่าลืมว่าโควต้าเต็มเมื่อไรก็ปิดหีบ ดังนั้นปีไหนที่ผลผลิตเยอะ ก็ต้องเร่งทำเวลา) สามารถตัดได้แม้อ้อยมีปัญหาเจอลมแรงต้นล้มพันกันมากจนรถตัดไม่ได้

สำหรับข้อเสียของการเผาไร่อ้อยก่อนตัดคือ ทำให้เกิดมลภาวะ เกิดฝุ่น pm 2.5 ได้อ้อยที่มีน้ำหนักน้อย ค่าความหวานลดลง ทำให้ขายได้ราคาน้อยลง รายได้ลด ทำให้อินทรีวัตถุในดินน้อยลง ดินทึบแน่น ไม่อุ้มน้ำ นอกจากนี้การที่เราเผาจะทำให้เราไม่มีใบอ้อยมาคลุมดิน ทำให้วัชพืชขึ้นได้ง่าย ซึ่งวัชพืชดังกล่าวจะมาแย่งอาหาร ทำให้ตออ้อยแคระเกร็น นอกจากนี้แมลงที่เป็นศัตรูพืชจะบินมาวางไข่ และเมื่อไข่ดังกล่าวฟักตัวจะกลายเป็นหนอนชอนไชทำให้ตายตออีกด้วย การที่เหลือใบอ้อยไว้ ใบอ้อยจะกลายเป็นปุ๋ย ซึ่งใบอ้อยมีไนโตรเจน 0.35-0.66% ประเทศไทยมีการเผาใบอ้อยปีละประมาณ 10 ล้าน เท่ากับเราเผาปุ๋ยไนโตรเจนทิ้งไปปีละ 35,000-66,000 ตัน เลยทีเดียว

เมื่อเทียบข้อดีกับข้อเสียแล้ว จะเห็นว่า ในระยะยาว ยังไงการเผาก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่ทำไมเกษตรกรร้อยละ 60 จึงเลือกใช้วิธีการเผา?

ภาพการเผาทั้งหมดในช่วงวันที่ 3/3/2019 – 4/3/2019 สามารถดูภาพการเผาทั้งหมดได้ที่ https://firms.modaps.eosdis.nasa.gov/map/#z:3;c:112.7,9.8;d:2019-03-25..2019-03-26

ทำไมเกษตรกรถึงเลือกใช้วิธีการเผา?

อยากให้ลองดูตารางข้างล่าง ก่อนตัดสินใจนะครับ

วิธีการเก็บเกี่ยว
เกษตรกรการตัดอ้อยสดการเผาอ้อยก่อนตัดการใช้รถตัดอ้อย
ราคาผลผลิต (บาท/ตัน)780720780
ค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยว (บาท/ตัน)150100220
วิธีการเก็บเกี่ยว
แรงงานการตัดอ้อยสดการเผาอ้อยก่อนตัด
จำนวนที่เก็บเกี่ยวได้ (ตัน/วัน)1.02.5
รายได้จากการเก็บเกี่ยว (บาท/วัน)150250


เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ เห็น 2 ตารางนี้ ก็น่าจะเลือกเหมือนกันคือ เผาอ้อยก่อนตัดดีกว่า! (อย่าลืมว่าในความเป็นจริง นอกจากตัวเลขต้นทุน-รายได้แล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องระยะเวลาด้วย เพราะยิ่งช้า ก็หมายถึงเวลาที่โรงงานจะปิดรับซื้อก็ใกล้เข้ามา ยิ่งในช่วงเวลาที่ขาดแคลนแรงงานด้วยแล้ว แรงงานก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะเวลาที่หายไวจากการไม่มีแรงงานตัด นั่นหมายถึงเวลาที่ก่ออนปิดหีบที่เหลือน้อยลงทุกที)

หากคุณเลือกวิธีเผาก่อนตัดอ้อย คุณไม่ได้คิดไปคนเดียวหรอกครับ จากการทดลองของ อ.ดร.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็พบว่ามีนักศึกษาถึง 70-80% ที่เลือกวิธีนี้ อย่าลืมนะครับว่า เกษตรกรจริงๆ เลือกใช้วิธีนี้แค่ 60% นะครับ แสดงว่าในมุมมองของคนทั่วไป ตัดสินใจเลือกใช้วิธีนี้มากกว่าเกษตรกรจริงๆเสียอีก!

เมื่อเราเห็นตัวเลขนี้ แล้วเราเลือกใช้วิธีนี้ แม้ว่า

  • รายได้จากการขายอ้อยของเกษตรจะลดลง
  • โรงงานได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันและตกผลึกน้ำตาลยากขึ้น
  • เกิดปัญหามลพิษฝุ่นละออง

แต่นั่นเป็นเพราะ

  • ในแง่ของแรงงาน แม้ว่าแรงงานจะได้ค่าแรงต่อตันน้อยกว่า แต่ด้วยความสะดวกในการตัด ทำให้สามารถตัดได้ต่อวันมากกว่า ส่งผลให้แรงงานได้ค่าแรงสุทธิมากกว่า แรงงานจึงแฮปปี้กับการตัดอ้อยเผามากกว่า
  • ในแง่ของเกษตรกร แม้ว่าจะได้รายได้น้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวก็ลดลง ประกอบกับแรงงานแฮปปี้กับวิธีการเผามากกว่า เลยเกิดเป็น win-win situation ใช้วิธีการเผาดีกว่า

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้เกษตรกรต้องเลือกใช้วิธีการเผาก่อนตัด เป็นเพราะกลไกราคาเป็นตัวส่งเสริมให้ใช้วิธีดังกล่าว

แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?

จากตัวเลขกลไกข้างต้น หากเราต้องการเปลี่ยนการตัดสินใจของเกษตรกร เราสามารถทำได้โดย

  1. ให้โรงงานกดราคาอ้อยไหม้ไฟให้ต่ำลง
  2. เพิ่มราคาอ้อยสดให้สูงขึ้น
  3. ทำให้ต้นทุนในการใช้รถตัดอ้อยลดลง
  4. เพิ่มแรงจูงใจกับแรงงานด้วยการเพิ่มค่าจ้างการตัดอ้อยสดให้สูงขึ้น

ในความเป็นจริงแล้ว ข้อ 1, 2 ต้องใช้กลไกทางภาครัฐเข้ามาช่วย เพื่อบีบให้โรงงานกดราคาอ้อยไหม้ไฟ หรือแทรกแซงกลไกตลาดให้ราคาอ้อยสดสูงขึ้น สำหรับข้อ 4 การเพิ่มค่าแรงจะเป็นไม่ได้เลย หากไม่ทำร่วมกับข้อ 2 คือ ราคาอ้อยสดต้องสูงขึ้นด้วย จึงต้องใช้วิธีกลไกของรัฐในการแทรกแซงอยู่ดี หากรัฐต้องการแทรกแซงให้น้อยที่สุด จึงน่าจะต้องใช้วิธีในข้อ 3 คือทำให้ต้นทุนในการใช้รถตัดอ้อยลดลง อาทิเช่น ที่ผ่านมามีคนนำเสนอว่า ให้แต่ละพื้นที่มีรถตัดอ้อยส่วนกลางเพื่อใช้งานร่วมกัน หรือพัฒนารถตัดอ้อยให้มีราคาถูกลง เช่น จากเดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาคันละ 11.5 ล้านบาท แต่สามารถพัฒนาและผลิตใช้เองในราคาคันละ 2.5 ล้านบาท เป็นต้น


Share this:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *