สังเวย QE ฤา จะเป็นจุดจบของญี่ปุ่น

น่าแปลกไหมครับ ทำไมอยู่ๆญี่ปุ่นถึงเริ่มเปิด free VISA ให้กับหลายๆประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน แก๊งยากูซ่าที่ปกติแล้วจะไม่ยุ่งกับคนต่างชาติเลย ก็เริ่มมีข่าวว่าคนไทยที่ญี่ปุ่นเริ่มโดนแก๊งยากูซ่าไถตัง สำหรับเรื่อง free VISA อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจว่าต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ข่าวแก๊งยากูซ่าเริ่มเล่นงานคนต่างชาตินี่น่าจะเป็นเพียงปัญหาบางส่วนของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

เมื่อช่วงต้นปี 2013 ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจใช้มาตรการ QE เป็นครั้งแรก ซึ่งก็เป็นหนึ่งในธนู 3 ดอกของอาเบะ ที่ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงตะวันลับขอบฟ้าของแดนอาทิตย์อุทัยมานานกว่า 2 ทศวรรษ

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า QE คืออะไร
“Quantitative Easing (QE) คืออะไร?? ในทางเศรษฐศาสตร์มาตรการ QE ถือเป็นนโยบายด้านการเงิน (Monetary Policy) ซึ่งถูกใช้โดยธนาคารกลาง โดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่ม เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง ทั้งนี้วิธีการในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบทำได้โดยการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินจากสถาบันการเงินซึ่งอาจเป็นพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หรือแม้กระทั่งตราสารหนี้ประเภทที่มีลูกหนี้สินเชื่อบ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน”

(ที่มา โพสทูเดย์:: คุณ โดยสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนลูกค้าบุคคล บล.ไทยพาณิชย์)

หลังจากปี 1990  ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาตลอด เริ่มจากฟองสบู่แตก จากนั้นก็โดนกระหน่ำซ้ำเดิมด้วยสังคมผู้สูงอายุ ไม่ต่างอะไรก็คนที่เจ๊งหมดตัวตอนใกล้เกษียณ หลังจากนั้นไม่ว่าจะทำยังไง ญี่ปุ่นก็ไม่สามารถกลับมาโชติช่วงชัชวาลได้เท่าเมื่อก่อนเลย ที่ผ่านมาญี่ฝุ่นแก้ปัญหาด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ว่าดอกเบี้ยเงินฝากจะต่ำขนาดไหน เงินก็ยังไม่ออกมาในระบบ เพราะคนญี่ปุ่นมีสัดส่วนการออมสูง (ส่วนนึงเพราะมีประชากรผู้สูงอายุมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมาก)  เมื่ออุปสงค์ลด อุปทานก็หาย จากนั้นเงินทุนก็เริ่มโยกย้ายออกไปต่างประเทศ การจ้างงานลดลง คนตกงานเป็นจำนวนมาก เมื่อมาเจอวิกฤต Subprime ปี 2008 กระหน่ำซัด ญี่ปุ่นจึงต้องคิดใหม่ ทำใหม่ จึงเกิดเป็นมาตรการธนู 3 ดอกของอาเบะ และ QE ก็เป็นหนึ่งในนั้น

แต่ว่าญี่ปุ่นมาถูกทางจริงหรือ?

หากสืบค้นประวัติความเป็นมาของ QE จะพบว่า QE เริ่มจากอเมริกาเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 จึงทำให้ต้องการประกาศใช้ QE ในปี 2009 หลังจากนั้นก็มีคำแนะนำจาก IMF ให้ยุโรปและญี่ปุ่นใช้ QE ตามแบบอเมริกา (ซึ่งยุโรปและญี่ปุ่นมีปัญหาเศรษฐกิจมาก่อนอเมริกา แต่ไม่ได้คิดจะประกาศใช้ QE) หลังจากนั้นยุโรปก็ประกาศใช้ QE และแน่นอนว่าอาเบะซึ่งเป็นสาวกอเมริกาตัวยงก็ประกาศใช้ QE ตามยุโรปไปติดๆ แต่ว่าทั้งอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างก็มีบริบท พื้นฐาน และโครงสร้างของปัญหาที่แตกต่างกัน การประกาศใช้ QE จะเป็นทางออกที่ดีจริงหรือ?

มาดูทางฝั่งอเมริกากันก่อน

เป็นที่ทราบกันดีว่ามีแต่ประเทศที่มีสกุลเงินสากลของโลกเท่านั้นที่ใช้ QE ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ใช้ QE จะทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หากใช้ QE แล้วเงินไม่สามารถไหลออกนอกประเทศได้อย่างรวดเร็วจะทำให้ประเทศเกิดเงินเฟ้อที่สูงมาก ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศตกต่ำและค่าครองชีพของคนในประเทศสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเงินดอลล่าของอเมริกาเป็นเงินที่มีความเป็น worldwide สูงที่สุด นั่นทำให้อเมริกาเองไม่ได้รับผลกระทบของปัญหานี้ แต่การใช้ QE ของอเมริกาทำให้เกิดเงินเฟ้อทั่วทั้งโลกแทน เนื่องจากเงินดอลล่าสามารถไหลออกจากอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม key ของอเมริกาก็คือเงินดอลล่า ดังนั้นอเมริกาต้องปกป้องดอลล่าสุดชีวิต ดังที่เราจะเห็นสงครามค่าเงินระหว่างจีนกับอเมริกามาตลอด เพราะจีนเองก็อยากให้เงินหยวนเป็นเงินสกุลหลักของโลก และถ้าจีนทำสำเร็จ ความสำคัญของเงินดอลล่าจะลดลงไปมากและนั่นทำให้อเมริกาพบกับวิกฤต

อย่างไรก็ดี การใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และเงินไหลออกนอกประเทศเยอะๆก็ไม่ใช่ข้อดี เพราะอเมริกาไม่ใช่ประเทศที่เน้นการส่งออกเป็นหลักแต่เป็นประเทศที่มีการนำเข้าสูงมาก ดังนั้นการที่เงินไหลออกนอกประเทศเยอะๆจะทำให้เงินดอลล่าอ่อนค่าและส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของคนอเมริกาที่ต้องใช้สินค้านำเข้าจำนวนมาก ซึ่งการแก้ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดึงเงินทั่วทั้งโลกให้กลับมาที่อเมริกา แต่อย่างไรก็ตาม อเมริกาไม่ได้อยากขึ้นดอกเบี้ยจริงๆหรอก เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่มีหนี้เยอะ เมื่อใดก็ตามที่ขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้หนี้ของอเมริกาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นอเมริกาจึงต้องเล่นเกมส์กับสื่อว่า จะขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดึงเงินกลับ และทำให้ค่าเงินตัวเองแข็งขึ้น แต่พอถึงเวลา ก็ไม่ขึ้นจริงๆเพราะถ้าขึ้นแล้วต้องเจอปัญหาหนี้ท่วมประเทศแน่ๆ

ต่อมามาดูทางฝั่งยุโรปกันบ้าง

ต้องบอกว่ายุโรปเห็นผลของ QE น้อยกว่าเพื่อน และหลังจากใช้ QE ก็ไม่มีทีท่าว่าเศรษฐกิจยุโรปจะดีขึ้นแต่อย่างใด กลายเป็นเยอรมันซะอีกที่เป็นพระเอกอุ้มเศรษฐกิจทั้งยุโรปไว้ แต่ตัวเยอรมันเองก็เฉยๆกับ QE เพราะว่าถึงประกาศ QE ไป ตัวเองก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์อะไร อาจได้บ้างในแง่ว่าถ้าเงินยูโรอ่อน สินค้าส่งออกของเยอรมันก็สามารถส่งออกได้เยอะขึ้น เพราะเยอรมันเป็นประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกเยอะ (ตามปกติแล้ว ถ้าส่งออกได้เยอะ ค่าเงินจะแข็ง ทำให้สินค้าส่งออกเริ่มมีราคาแพงและส่งออกได้น้อยลง แต่แม้ว่าเยอรมันส่งออกได้เยอะ ก็มีประเทศอย่างกรีซ โปรตุเกส ซึ่งไม่มีวินัยทางการคลัง มาทำให้ค่าเงินยูโรอ่อน เยอรมันก็ส่งออกกันมันเลยทีนี้)

นอกจากปัญหาเรื่องความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่มยูโรโซน ยุโรปก็ยังมีความคับข้องใจกันเป็นระยะ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องผู้อพยพ จนหลายๆประเทศในยูโรโซนมองว่า ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ การรวมกลุ่มกันอาจได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็จริง แต่ก็อาจได้ไม่คุ้มเสียเพราะจะทำให้กอดคอกันตายหมด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณการแตกตัวของยูโรโซน

มองกันที่ค่าเงินกันบ้าง แม้ว่าเงินยูโรจะไม่ได้มีความ worldwide เท่าอเมริกา ทำให้ค่าเงินค่อยๆตกต่ำทีละน้อยจากมาตรการ QE แต่ก็ถือว่าดีกว่าเงินเยนของญีปุ่น อย่างไรก็ตามยุโรปไม่ต้องเล่นเกมส์ค่าเงินให้ซับซ้อนจากผลกระทบของมาตรการ QE แบบอเมริกา เพราะต่อให้ค่าเงินยูโรล่มสลาย ยุโรปก็ยังถอยไปได้ 1 ก้าว คือสามารถกลับไปใช้ค่าเงินเดิมของประเทศตัวเองแทนเงินยูโรได้ ดังนั้นอาจบอกได้ว่าที่ผ่านมายุโรปเห็นผลจากมาตรฐาน QE น้อยกว่าอเมริกาและญี่ปุ่น ทั้งในแง่ของผลลัพธ์ที่ได้ และผลกระทบที่เกิด เพราะแม้ว่าถ้าเกิด Brexit ซึ่งเป็นระเบิดลูกแรกขึ้นมาจริงๆ ทุกประเทศก็ยังสามารถล้มค่าเงินยูโร กลับไปใช้ค่าเงินเดิมของตัวเองได้

ฤาญี่ปุ่นจะสังเวย QE เป็นเจ้าแรก

ญี่ปุ่นนั้นดูท่าจะหนักที่สุด การใช้มาตรการ QE ของญี่ปุ่นเห็นผลชัดเจนในช่วงแรกที่เริ่มใช้เท่านั้น แต่พอไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้สำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ QE มากที่สุด เพราะเงินเยนของญีปุ่นมีความเป็น local สูงกว่าเงินยุโรและดอลล่ามาก ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเยนตกต่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่ามาก แถมไม่สามารถถอยไปใช้ค่าเงินอื่นได้แบบยุโรป ในช่วงแรกญี่ปุ่นอาจได้อานิสงจากค่าเงินที่อ่อนค่าทำให้ส่งออกได้มากขึ้น แต่ถ้าใช้ไปนานๆจนคนเริ่มหมดความเชื่อถือจากเงินเยน จะทำให้ค่าครองชีพสูงเกินกว่าคนญี่ปุ่นจะรับไหว นอกจากนี้นโยบายการขึ้นภาษีก็ยังซ้ำเติมคนทำงานของญี่ปุ่นเข้าไปอีก ทำให้ญี่ปุ่นมีคนยากจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับประเทศอื่นที่มีคนยากจนน้อยลง เมื่อผนวกกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ดูท่าแล้วญี่ปุ่นจะกู่ไม่กลับ

japan_debts_comp-large_trans++hjFNQQUQfQZ_ACEQcfc7XthWOGjtMJWNE5kbE-GP774Japan’s public debt is in uncharted waters for the world CREDIT: BLOOMBERG

รูปนี้แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงมาก สูงกว่าอเมริกาที่ว่าเยอะ และสูงกว่ากรีซที่ว่าแย่เสียอีก

20economix-relative-poverty-sub-blog480

Source: O.E.C.D. Income Distribution Database

รูปนี้แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นเปอเซนต์คนจนสูงมากเป็นอันดับต้นๆของโลก

global-poverty-rates-chart

Source : Business Insider/Andy Kiersz, data from World Bank

รูปนี้แสดงให้เห็นว่าโดยภาพรวมแล้ว ทั่วโลกมีคนยากจนน้อยลง ซึ่งสวนทางกับญี่ปุ่น (ดูรูปสุดท้าย)

 news_150224_02_en

รูปนี้แสดงให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นมีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

news_150224_03_en

รูปนี้บ่งบอกว่าคนญี่ปุ่นที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับแนวโน้มของโลก

สุดท้ายนี้ ญี่ปุ่นเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีว่า การจะใช้เครื่องมือใดในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจต้องพิจารณาให้รอบคอบ และรอบด้าน รวมถึงต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หลายคนมอง QE ในแง่ลบว่า ทำให้เกิดเงินเฟ้อทั่วทั้งโลก ประเทศพัฒนาแล้วเอาแบงค์กงเต๊กมาซื้อของ ซื้อสินค้า และธุรกิจจริงๆในประเทศเรา ดึงการเจริญเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาไปให้ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ผมอยากให้คิดว่า ตอนเริ่มแรกที่อเมริกาเริ่มใช้ QE ทำไมถึงไม่มีใครคัดค้านได้เต็มปาก นั่นก็เพราะเมื่อประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ล้ม ประเทศอื่นๆย่อมล้มตามกันเป็นลูกโซ่ ยิ่งตลาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอเมริกายิ่งไม่ต้องพูดถึง ถ้าล้มขึ้นมา ทั่วโลกต้องตายตามแน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วจะให้เค้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบไหม กู้มาหรือ? ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ไทยต้องกู้เงินจาก IMF แต่ประเทศเหล่านี้เวลาล้มจะไปกู้เงินมหาศาลจากใคร ประเทศกำลังพัฒนาหรือ? ถ้าทำเช่นนั้นก็จะกลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อมอีก เพราะประเทศกำลังพัฒนาก็ให้กู้ไม่ไหว และประเทศที่กู้ไปก็ไม่แน่ว่าจะใช้หนี้ไหวด้วย สุดท้ายก็ได้กอดคอกันตายทั้งโลก ดังนั้นที่อเมริกาตัดสินใจใช้ QE ก็นับว่าไม่ได้ทำอะไรผิด หากจะผิด ก็ผิดที่อเมริกาไม่ยอมปรับโครงสร้างของประเทศตัวเอง อัดแต่ QE จนเริ่มระบบการเงินทั่วโลกเริ่มบูดเบี้ยวอย่างในทุกวันนี้

ข้อมูลและรูปภาพบางส่วนนำมาจาก telegraph.co.uk


Share this:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *