หนังสือสัญญา กับ การยืมเงิน

หลายคนคงเคยมีประสบการณ์โดนเพื่อนหรือรู้จักยืมเงิน พอตอนมาขอยืมก็อธิบายจนเราเข้าใจว่าเดือดร้อนจริงๆ หรือไม่ก็เห็นว่ารู้จักกันมานาน ยืมเงินเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่ามีปัญหาก็ให้ยืมไป ไม่ได้คิดอะไร แต่พอตอนจะคืน ช่างคืนยากคืนเย็น อ้างปัญหา 108 ไม่ก็หนีไปซะดื้อๆ ฝั่งคนยืมเองก็เหนื่อยหน่าย “อะไรกันนักหนา แค่เงินนิดๆหน่อยๆทวงอยู่ได้” ส่วนฝั่งคนให้ยืมก็หงุดหงิดใจ “คนกันเองแท้ๆ เงินนิดๆหน่อยๆ แค่นี้ก็ยังไม่จ่าย” สุดท้ายความสัมพันธ์ที่มีมูลค่ามากกว่าเงินที่ยืมไปหลายร้อย หลายพันเท่าก็อาจพังทลายลงได้ง่ายๆ หรือไม่ก็อาจจบด้วยการฟ้องร้องเป็นคดีความกันไป

แต่ด้วยความที่เป็นคนกันเอง เป็นเรื่องเล็กน้อยเนี่ยแหละ ทำให้คนส่วนใหญ่พลาด ที่จะไม่ทำหนังสือสัญญา!

แต่เดี๋ยวก่อน เรามีพยานบุคคล มีหลักฐานในแชทว่าเค้ายืมเงิน บางคนอาจจะอัดเสียงโทรศัพท์ตัวเองไว้ หรือไม่ก็เก็บสลิปการโอนเงินไว้เป็นอย่างดี หลักฐานเท่านี้ก็น่าจะพอ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนิ

แต่มันมีปัญหาครับ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุไว้ชัดเจนว่า

มาตรา ๖๕๓ การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

ดังนั้นถ้าไม่มีหนังสือสัญญาก็ฟ้องร้องไม่ได้นะครับ ดังนั้นเพื่อความชัวร์ ควรจะต้องทำหนังสือสัญญาไว้ทุกครั้ง ซึ่งแบบฟอร์มหนังสือสัญญาก็หาได้ง่ายมาก เพียงพิมพ์คำว่า สัญญากู้ยืมเงินใน google 

ก็มีให้ download มากมายหลายแบบนับไม่ถ้วน แต่ถ้ารีบจริงๆ หรือคนรู้จักกันไม่อยากมีพิธีรีตองมาก หรือไม่ก็ที่มีให้ download มันสับสนวุ่นวาย เห็นตัวอักษรมากมายแล้วรู้สึกงงงวยขึ้นมา แนะนำว่าให้เขียนหนังสือสัญญาการกูเยืมเงินที่มีรายละเอียดดังนี้

  1. เขียนชื่อผู้ยืม พร้อมลงรายละเอียดว่าได้ยืมเงินจากใคร
  2. เขียนจำนวนเงินที่ยืมให้ชัดเจน และมีคำอ่านออกเสียงกำกับ
  3. ลงรายละเอียดว่าจะคืนเงินวันที่เท่าไร อย่างไร
  4. ลงรายมือชื่อของผู้ยืม ***สำคัญมาก
  5. รายละเอียดอื่นๆเช่น หากมีการคิดดอกเบี้ย ควรระบุไว้ด้วย (แตห้ามคิดเกินที่กฎหมายกำหนดนะครับ) และอาจเพิ่มรายละเอียดว่าสัญญาเขียนที่ไหน เขียนวันที่เท่าไร เพื่อเป็นประโยชน์ในกรณีที่เกิดการฟ้องร้องขึ้นมา จะได้สืบคดีได้ง่ายขึ้น อาจทำสองฉบับเพื่อให้กับผู้กู้เงินเก็บไว้อีกชุดนึงก็ได้

 

สุดท้ายอยากจะฝากไว้ว่ายิ่งในสัญญามีรายละเอียดมากเท่าไร ก็ยิ่งมีประโยชน์ตอนนำสืบคดีมากเท่านั้นนะครับ

writing-1149962_960_720

 


Share this:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *