เล่าประสบการณ์ไปงานสู่ 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ PUEY TALK #3

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมงาน สู่ 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ PUEY TALK #3 และไหนๆก็ไปฟรี บวกกับประทับใจหลายอย่าง จึงอยากจะช่วยประชาสัมพันธ์และแชร์เรื่องราวให้ทุกคนรู้จัก ซึ่งโลกอีกใบที่เพื่อนๆของผมหลายคนยังไม่เคยได้สัมผัสกับมัน

ต้องบอกก่อนว่าผมไปงานสาย ทำให้พลาดอะไรไปหลายๆอย่าง พอไปถึง อ.เดชรัตน์ ก็พูดจนใกล้จบแล้ว ผมจึงได้เข้าร่วมงานเต็มๆเริ่มตั้งแต่ Blind theatre ซึ่งเป็นการแสดงออกแนวอาร์ทๆ ที่ต้องการจะใช้ท่าทางสื่อสารถึงการทานอาหาร และความรู้สึกจากตัวอาหาร โดยสื่อสารออกมาให้หลุดกรอบเดิมๆ เพราะว่าคนเราจะแสดงท่าทางออกมา ซ้ำๆ เดิมๆ ซึ่งเป็นท่าทางที่เราเรียนแบบกันมา แต่ท่าทางพวกนั้นใช้ไม่ได้กับคนตาบอด ที่เค้าไม่เคยได้เห็นท่าทางเหล่านั้น แต่การแสดงชุดนี้ต้องบอกว่าความอาร์ทผมยังไม่ถึงขั้น เลยยังซึมซับความหมายอันลึกซึ้งได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไร

ต่อมาพี่ป็อป ก็ขึ้นพูด พี่ป็อปเป็นคนก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ ซึ่งพี่ป็อปทำให้ผมคิดอะไรได้หลายอย่าง พี่ป็อปแสดงให้เห็นถึงการเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ การได้ทำตามความฝันและ passion ของตัวเอง จนเกิดเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกแห่งใหม่ของเมืองไทย ตรงนี้ทำให้ผมคิดได้ว่า ที่ผ่านมา เราพัฒนาการเกษตรในเชิงอุตสาหกรรม แล้วเราทำอะไรลงไปบ้าง เราใช้ยาฆ่าแมลง ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างหนัก จนเชื้อดื้อในพืชและสัตว์ทะลุ 90% พอเชื้อดื้อยา เราก็เอา GMOs มาแก้ หลายๆประเทศปล่อยสิ่งมีชีวิต ที่ถูกดัดแปลงจนไม่รู้ว่าผ่านไปอีกล้านปี พืชต้นนั้นจะวิวัฒนาการได้ขนาดนั้นไหม สิ่งมีชีวิตอื่นๆก็คงต้องวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อให้อยู่เองอยู่รอดให้ได้ หรือไม่ก็สูญพันธุ์ไป ผมว่าสุดท้ายมนุษย์นั่นแหละที่ต้องตัดต่อยีนตัวเองเพื่อให้อยู่รอดได้เหมือนกัน

ต่อมาก็เป็นคุณไอรีล ผู้ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 27 ซึ่งเค้ากำลังจะเรียนไปต่อที่ต่างประเทศ แต่คุณไอรีลมองบวก คุณไอรีลพิจารณาว่าตัวเองกำลังกลัวอะไร และสิ่งที่กลัวคือการจากไปอย่างไร้คุณค่า คุณไอรีลเป็นศิลปินจึงเลือกออกแบบชีวิตของตัวเองอยากเป็น และก่อตั้ง Art for cancer ซึ่งเป็นงานศิลปะเพื่อช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็ง เห้ย ตรงนี้ผมว่าเจ๋งมาก ที่ผ่านมาเรามองการบำบัดในมุมของการแพทย์มาตลอด ลืมคิดไปเลยว่าคนเรามีความต้องการในทุกมิติ และทุกๆคนก็สามารถออกมาช่วยเหลือคนอื่นได้

คนต่อมาผมจำชื่อไม่ได้ เค้าพูดน้อยมาก เค้าบอกว่าเค้าทำเกี่ยวกับการเรียนรู้และให้ทุกคนจับคู่กับคนไม่รู้จักเพื่อคุยกัน ทำให้ได้รู้จักกับพี่อาร์ม พี่อาร์มมีโปรเจคดีๆหลายอย่าง พี่อาร์มกำลังจะเปิดโฮมสเตย์ที่เชียงใหม่ แต่เป็นโฮมสเตย์ที่ให้คนที่ไปพัก ได้ไปสัมผัสกับชีวิตและมีวิถีชีวิตเหมือนคนท้องถิ่นจริงๆ และยังวางแผนเพื่อให้มีพื้นที่เพื่อการ communicate กันระหว่างคนที่ทำงานในด้านการพัฒนาสังคมด้วยและอื่นๆด้วย สุดท้ายวิทยากร บอกให้จดความรู้สึกแรกก่อนคุยกันเอาไว้ ซึ่งความรู้สึกแรกก็คือ ผมไม่รู้จะพูดอะไรดี นั่นทำให้ผมคิดได้ว่า สิ่งที่ผมทำจากนั้นคือรวบรวมข้อมูลในสมอง จากนั้นก็วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้น ซึ่ง กูทำไปทำไมวะ เราแค่กำลังจะคุยกับคนๆนึง คนที่พลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม คนที่มีแรงขับคล้ายๆกันที่ดึงดูดให้เรามางานเดียวกัน แล้วเรากลัวอะไร? ที่ผ่านมาเวลาพูดคุยในที่สาธารณะ พวก introvert มักจะมีปัญหากว่าพวก extrovert เสมอๆ เพราะพวกนี้คุยกับตัวเองมากกว่าคุยกับคนอื่น จริงๆเพื่อนผมที่เรียนมาด้วยกันโดยเฉพาะเภสัชก็เป็น introvert เกือบทุกคนแหละ แล้ววิทยากรวันนี้ทุกคนทั้งความคิดและการกระทำก็แสดงออกชัดเจนว่าเป็นพวก introvert ด้วย

วิทยากรท่านต่อมาคือคุณกุสุมา จันทร์มูล ประวัติท่านน่าสนใจมากๆครับ คุณกุสุมาเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นกระเป๋ารถเมล์ของ ขสมก. แต่สิ่งที่เราไม่เคยได้รู้เลยก็คือ ขสมก. แต่ก่อนมีปัญหาเรื่องการกดขี่และคุกคามทางเพศ ใครไม่ยอมเป็นเมียน้อยหัวหน้าจะโดนแกล้งสารพัดจนอยู่ไม่ได้ และคุณกุสุมาก็เป็นหนึ่งในนั้น ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร? คนทั่วไปคงเลือกคือ 2 อย่างคือ ยอมเป็นเมียน้อย ไม่ก็ลาออกไปหางานอย่างอื่นทำ แต่สิ่งที่คุณกุสุมาแตกต่างคือ คุณกุสุมาเลือกที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรม เพื่อผู้หญิงและกระเป๋ารถเมล์ของ ขสมก. ทุกคน โดยการเอาผลักดันประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศเข้าสหภาพแรงงานจนประสบความสำเร็จ แต่แค่ผู้หญิงเท่านั้นหรือที่ถูกคุกคาม? เพศที่ถูกคุกคามอย่างรุนแรงไม่แพ้กัน และอันที่จริงรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ คือกลุ่มเพศที่ 3 และคุณกุสุมาก็ได้ต่อยอดจากความสำเร็จแรกมาสู่การแก้ปัญหาการคุกคามเพศที่ 3 ปัจจุบันนี้คุณกุสุมาเป็นสายตรวจพิเศษ ก็ยังผลักดันเรื่องอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆให้แก่สายตรวจ

เรื่องนี้น่าสนใจนะครับ แม้ว่าวิธีที่คุณกุสุมาใช้ อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด หรืออาจจะมีวิธี/เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่านี้ แต่สิ่งที่คุณกุสุมาแสดงให้เห็นอย่างประจักษ์คือ การไม่ดูถูกคุณค่าและศักยภาพในตัวเอง ไม่มองว่าเป็นคนตัวเล็ก เป็นแค่กระเป๋ารถเมล์ แล้วจะทำอะไรไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเพื่อส่วนนร่วมจนประสบความสำเร็จ ผมว่าเรื่องนี้ทำให้เราทุกคนต้องหันกลับมามองตัวเองว่า ทุกวันนี้ มันมีปัญหาอะไรหรือเปล่า มีความชั่วร้ายอะไรหรือเปล่า ที่เราพบมันทุกวัน เห็นอยู่ทุกวัน แต่เราเพิกเฉยต่อมัน จนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ดูถูกศักยภาพของตัวเอง ด้วยการละเลยการทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือมัวแต่บอกกับตัวเองว่า ถ้า…… แล้วจะทำ แต่อันหลังผมพอเข้าใจนะ ระบบการศึกษาสอนเราให้หาข้อมูล เตรียมความพร้อม เมื่อพร้อมก็วิเคราะห์ข้อมูล ประเมินความเป็นไปได้ จากนั้นจึงลงมือทำ สรุปผล แล้วก็ประเมินผล และฝึกให้เราชำนาญในด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด แต่สิ่งที่ตามมาคือทำให้เราไม่กล้าทำอะไรเมื่อขาดข้อมูล และไม่ชำนาญ ไม่กล้าลองผิดลองถูกและมองว่าความผิดพลาดคือสิ่งที่เลวร้าย

วิทยากรท่านสุดท้ายเป็นศิลปินท่านหนึ่ง ท่านเดินไปฝรั่งเศสด้วยแซกโซโฟนอันเดียว และสิ่งที่ท่านค้นพบคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ คือคนกระทำกับธรรมชาติ และธรรมชาติก็กระทำกับคน เกิดเป็นความผูกพันและภาพสะท้อนของกันและกันอย่างแยกไม่ออก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือมีชนเผ่านึง เมื่อเด็กเกิดเค้าจะเอารกไปผูกกับต้นไม้ เพื่อให้เป็นต้นไม้ประจำตัวของเด็กคนนั้น ฟังๆดูธรรมดาหรือไร้สาระนะครับ แต่ใครเคยเรียนวิชา Public Health และเข้าใจวิถีของชุมชน จะเข้าใจสิ่งนี้ได้อย่างลึกซึ้งเลย แต่ที่ผมสนใจที่สุดคือ เค้าทำโครงการที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเค้า เพื่อพัฒนาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เมืองเชียงใหม่ ชักชวนเพื่อนๆและคนอื่นๆให้มาปลูกต้นไม้ ทำกันจริงจังเป็นกิจกรรมหรือชมรมขนาดย่อมๆ ตรงนี้มันทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า เมืองไหนที่มีพลังของคนรุ่นใหม่ เมืองนั้นจะเข้มแข็ง และมีชีวิต เมืองเชียงใหม่นับว่าโชคดีที่มีคนหนุ่มสาวอยู่เยอะ แต่เมืองอื่นๆที่เค้าไม่ได้มีแม่เหล็กเพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวเอาไว้ ไม่นานเมืองนั้นก็จะมีแต่คนแก่ บ้านเมืองนั้นก็จะแก่ตามผู้คนไปด้วย ยิ่งเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยแล้ว การดึงคนหนุ่มสาวจากชนบทเข้าสู่เมืองกรุง คงไม่ใช่แนวคิดที่ดีแน่ๆ

ต่อมาก็เป็นการแสดงของคณะประสานเสียงสวนพลู ต้องบอกว่าไพเราะมากครับ ผมมีหูฟัง Sennheiser HD 598 ราคาหมื่นกว่าบาท กับ amp Fiio E12 ราคาเกือบๆ 5 พัน ต่อให้ผมกลับไปฟังที่บ้านใช้การ์ดเสียง Dx xodar เปิด asio ก็เสียงสู้ไม่ได้หรอกครับ เทียบไม่ติดเลย เสียงคนล้วนๆที่มีการสูญเสียรายละเอียดเลย เป็น Bit perfect ที่สมบูรณ์ที่สุด แล้วคิดดูว่าเสียงประสานที่ inner มันมีจิตวิญญาณว่าอยากทำเพื่อสังคมนะ ทำโดยไม่หวังผลตอบแทนนะ มันคนละเกรดกับ inner ของนักร้องที่ต้องร้องซ้ำๆเพื่อหารายได้เลยครับ ถ้าคราวหน้ามีโอกาสอยากชวนทุกๆคนให้มีโอกาสได้ฟังครับ

ปิดท้ายด้วยคำกล่าวปิดงานของ ส.ศิวรักษ์ รายละเอียดอื่นๆไม่พอพูดถึงเพราะเดี๋ยวจะเป็นประเด็นดราม่าการเมืองได้ แต่ประโยคที่ผมชอบมากคือ “สิ่งที่ยิ่งใหญ่ เกิดจากคนตัวเล็ก”

สุดท้ายขอขอบคุณ คุณดาลี่ (อดีตสมาชิก Ma.D Club) และผู้มีส่วนร่วมทุกคนในนามโครงการสู่ 100 ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้เกิดงานครั้งนี้ขึ้น เมื่อปี 2507 อาจารย์ป๋วยท่านเป็น คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว อุดมการณ์ของท่านยังส่งผ่านจากศิษย์รุ่นต่อรุ่น จนเกิดศิษย์อย่าง คุณดาลี่ และอีกนับร้อยที่ยังคงสานต่ออุดมการณ์ของท่าน และผมอยากฝากถึงทุกๆคน ว่าเราทุกคนสามารถสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมของเราได้ ผมมีเรื่องจะเล่าให้ฟังครับ
“ครั้งหนึ่งที่อังกฤษเคยมีทุ่งหญ้าส่วนรวม ให้คนเลี้ยงวัว นำหญ้าไปกินได้ฟรีๆ นับว่าเป็นผลงานที่คนในสังคมพยายามสร้างมันขึ้นมา ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน แต่มันก็จะมีคน พาวัวจำนวนที่เยอะขึ้น และถี่ขึ้น เกินกว่ากติกาที่ตกลงกันเอาไว้ เมื่อมีคนโกงของฟรีที่คนในสังคมช่วยกันสร้างเอาไว้ เพื่อประโยชน์ระยะสั้นของตัวเอง ไม่นานของฟรีที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกันก็หมดลง” และการกระทำเช่นนั้น ยังแผ่ขยายพลังลบให้กับคนอื่นๆในสังคม สังคมไหนมีพลังลบมากๆ คนก็จะเห็นแก่ตัว สนใจคนอื่นน้อยลง และมองแต่ประโยชน์ของตัวเองมากขึ้น แต่ยังมีคนกลุ่มนึงครับ คนกลุ่มนี้ก็ไม่เล็กนะ มีพอสมควร เค้ายังคงสร้างผลงาน ทำเพื่อสังคม ปล่อยพลังบวกที่มีมหาศาลให้คนรอบข้าง คนพวกนี้ไม่เคยสนใจว่าใครจะว่าเค้าโลกสวย แต่เค้าตอกกลับคนที่ว่าเค้าด้วยการทำเพื่อสังคมอย่างมีความสุขและอิมเอิบ และคนกลุ่มนี้ จะมารวมตัวกัน ในงานแบบนี้ หากมีโอกาส อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสพลังบวกอันเปี่ยมล้นเหล่านี้ เพื่อส่งต่อพลังบวกพวกนี้ให้คนอื่นต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ขอบคุณครับ

puey talk 3


Share this:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *