ในเมืองไทย อาชีพเกษตรกร ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ยากจน แต่ที่อเมริกา เกษตรกรคืออาชีพทำเงินอาชีพหนึ่งเลยทีเดียว
มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกร 2 ประเทศนี้แตกต่างกัน หนึ่งในปัจจัยนั้นคือการสนับสนุนจากภาครัฐ อันที่จริง ไทยเองก็มีการสนับสนุนจากภาครัฐไม่ได้น้อย เพียงแต่ว่าแนวคิด ระบบการทำงาน และประสิทธิภาพการทำงานนั้น ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ส่วนนึงก็ต้องโทษความล้มเหลวของระบบราชการไทย อีกส่วนนึงก็มาจากธรรมชาติของระบบการเกษตรบ้านเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- บ้านเรามีเกษตรกร 25% อเมริกามี 3% ของจำนวนประชากร
- เกษตรกรอเมริกามีความรู้ มีเทคโนโลยี เหนือกว่าเกษตรกรไทยมาก
- เกษตรกรอเมริกามีที่ดิน และเงินทุนจำนวนมาก ซึ่งเทียบกันแล้วก็ระดับเดียวกับนายหัวหรือพ่อเลี้ยงของไทยเลยทีเดียว
- เมืองไทย ใครใคร่ปลูกอะไร ตรงไหน ขอเป็นที่ดินของตัวเองก็ทำได้ ของอเมริกาใครจะเป็นเกษตรกรได้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนจากภาครัฐเท่านั้น ไม่ใช่ใครอยากเป็นก็เป็นได้ (ไม่มีแบบหยุดงาน ตกงาน แล้วทำไร่ไถนาไปพลางๆแบบไทยนะ) นอกจากนี้ รัฐบาลจะเป็นคนกำหนดพื้นที่และประเภทของสินค้าเกษตร ว่าบริเวณไหน ต้องปลูกอะไร ปริมาณเท่าไร จะปลูกตามใจชอบไม่ได้ จึงสามารถควบคุมชนิดและปริมาณของผลผลิตได้ชัดเจน (อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกาถึงจะบังคับแต่ก็รับผิดชอบ หากปลูกแล้วขายไม่ได้ ล้นตลาด ราคาตกต่ำ รัฐบาลก็รับซื้อและประกันราคาให้)
ด้วยบริบทที่แตกต่างกันนี้ เราคงจะไปลอกวิธีของอเมริกามาทั้งหมดไม่ได้ ต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะกับระบบการเกษตรของบ้านเราด้วย
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ อเมริกา มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านข่าวกรองข้อมูล เพื่อจัดทำข้อมูลให้เกษตรกรโดยเฉพาะ คล้ายๆกับ CIA ที่สืบราชการลับและจารกรรมข้อมูลประเทศต่างๆ หน่วยงานนี้มีชื่อว่า The Foreign Agricultural Service (FAS) ครับ
The Foreign Agricultural Service (FAS)
The Foreign Agricultural Service (FAS) เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (USDA) ทำหน้าที่ในการสืบ ติดตาม และรวบรวมข้อมูลการเกษตรของทั่วโลก จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้ให้แก่เกษตรกร และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในสหรัฐ เพื่อที่เกษตรกรและภาคเอกชนจะได้นำข้อมูลนั้นไป ประกอบการวางแผนและตัดสินใจ (Make Right Decisions)
ที่น่าสนใจคือ FAS ไม่ได้แค่เอาตัวเลขที่ละประเทศทำรายงานหรือสรุปเอาไว้ เช่น ข้อมูลของกรมศุลกากร แต่ FAS ลงไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง ข้อมูลที่ได้จึงเป็นข้อมูลในระดับปฐมภูมิ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลการส่งออกข้าวของไทย FAS ก็ไม่ได้ดูจากตัวเลขการคาดการณ์หรือรายงานกรมศุลกากร แต่ว่ามาเก็บข้อมูลปริมาณการส่งออกข้าวจากสายการเดินเรือเองเลย ข้อมูลที่ได้จึงมีความถูกต้องแม่นยำสูงมาก
การรายงานข้อมูลจะรายงานเป็นรายสัปดาห์ โดยกงสุลแต่ละประเทศจะมีเจ้าหน้าที่ของ FAS ประจำอยู่ และเจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะคอยติดตามและรายงานข้อมูลแก่ส่วนกลางที่กรุงวอชิงตัน จากนั้นส่วนกลางจะเก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานในทุกๆสัปดาห์ หลังจากนั้นจึงทำรายงานสรุปออกมาเป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปี นอกจากนี้ยังทำการประมวลผลข้อมูลทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสินค้าเกษตรในตลาดโลกด้วย
ภารกิจของ FAS
นอกจาก FAS จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลด้านการเกษตรและการตลาดจากประเทศอื่นดังที่กล่าวไปแล้ว FAS ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนภาคการเกษตรของสหรัฐในด้านอื่นๆด้วย เช่น
- ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการการค้า การลงทุน การส่งออก ที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร อย่างเช่น กฏระเบียบ กฏเกณฑ์ต่างๆเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าเกษตร ข้อกำหนด มาตรฐานของสินค้าเกษตร ข้อตกลงทางการค้าต่างๆ
- ทำหน้าที่ส่งออกการส่งออกในภาคการเกษตร โดยจะร่วมมือกับสมาคมภาคเอกชน เช่น สมาคมข้าวสาลี (U.S. Wheat Association) เพื่อส่งเสริมการส่งออก การสร้างแบรนด์ การพัฒนาสินค้าเกษตร และการขยายตลาด แต่ FAS จะไม่จับคู่ธุรกิจให้เอง แต่จะทำให้ลักษณะ ให้เงินสนับสนุนงบประมาณ เพราะเชื่อว่าภาคเอกชนทำได้ดีกว่าภาครัฐ
- ทำหน้าที่ล็อบบี้รัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายด้านการค้า เช่น ล็อบบี้ให้ประเทศนั้น นำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ หรือปรับข้อกำหนดที่เป็นประโยชน์แก่ภาคการเกษตรในสหรัฐอเมริกา
Share this: