ในปี 2016 ที่ผ่านมานี้ได้มีการพูดถึงโมเดล Thailand 4.0 กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในวงการ startup และเศรษฐกิจ ว่าแต่ Thailand 4.0 คืออะไร ทำไมต้องมี Thailand 4.0 แล้วมันดียังไง ทำไมต้องทำให้ได้ ไปให้ถึง แล้ว Thailand 1.0, 2.0, 3.0 คืออะไร บทความนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะเริ่มนับกันตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี พ.ศ.2504 ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
Thailand 1.0
ช่วง Thailand 1.0 ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เน้นการเกษตร และส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล มันสัปปะหลัง ต่อมาเราก็คิดว่า เอ เราเอาข้าวไปแลกของใช้ แลกเครื่องมือ เครื่องจักร มันจะคุ้มหรอ อีกอย่างสินค้าเกษตรมีผลผลิตที่ไม่แน่นอน ผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องฤดูกาล และดิน ฟ้า อากาศ ซึ่งควบคุมไม่ได้ จึงเกิดยุคต่อมาเป็น Thailand 2.0
Thailand 2.0
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเราจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศ และอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานคนเป็นหลัก ในช่วงแรกเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า หลังจากนั้นเราก็เริ่มมีการส่งออก
Thailand 3.0
Thailand 3.0 เกิดจากการที่เราเริ่มพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหนัก ช่วงนี้มีต่างชาติมาลงทุนในไทยมากโดยเฉพาะญี่ปุ่น อุตสาหกรรมในช่วงนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและเน้นการใช้วิทยาการ เช่น รถยนต์, อิเล็กโทรนิค, ปิโตรเคมี
เรามาดูกันนะครับ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วง Thailand 3.0
ในช่วงแรกที่เราก้าวสู่ยุค Thailand 3.0 เราโชติช่วง และเกรียงไกร ช่วงประมาณ พ.ศ. 2530 – 2534 GDP เราโตด้วยตัวเลข 2 หลัก โต 10% ขึ้นตลอด หลังจากนั้นเราก็โตที่ระดับใกล้ 10% จนถึง พ.ศ.2539 เรากำลังเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเซีย ทั่วโลกต่างจับตามองเรา เรากำลังจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วก่อนปี พ.ศ.2560
พ.ศ. 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง
พ.ศ. 2541 – 2548 เรากำลังฟื้นตัว โต 4-8% ต่อไป เป็นยุคทองของ SMEs เรากำลังเป็นเสือที่พึ่งหายป่วยมาใหม่ๆ
พ.ศ. 2549 เกิดการปฏิวัติ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประเทศเข้าสู่ช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนาน
หลังปี 2549 เศรษฐกิจเราเริ่มชะลอตัว GDP ค่อยๆลดลงเหลือหลัก 3-4 % ต่อปี ช่วงมีน้ำท่วมใหญ่ก็ติดลบไปเยอะ หลังจากนั้นใช้ยากระตุ้น โครงการรถคันแรก และอื่นๆ GDP ก็กลับไปใกล้ๆ 10% อีกครั้ง แต่หลังจากนั้นเราก็ซึมยาว โตแค่หลัก 1-2% เท่านั้น สุดท้ายเราก็ติดกับดักรายได้ปานกลาง และที่น่ากลัวที่สุดคือเรากำลังจะแก่ก่อนรวย (ประเทศที่เจอปัญหาสังคมสูงอายุก่อนหน้าเราอย่าง ยุโรป และ ญีปุ่น รวยก่อนแก่กันทั้งนั้น ยังไปกันไม่รอดเลย) โดยมีปัญหาที่หมักหมมมานานอย่างปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน คอยกระหน่ำซัด
จากปัญหาและองค์ประกอบทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนว่า โมเดลเศรษฐกิจแบบ Thailand 3.0 ไม่สามารถพาประเทศให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ จึงได้มีความพยายามที่ปรับเปลี่ยนประเทศสู่ยุคใหม่คือ Thailand 4.0
Thailand 4.0
หลังจากเกิดวิกฤตจาก Thailand 3.0 เราก็มานั่งทบทวนว่าที่ผ่านเกิดอะไรขึ้น เราพบว่าประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศที่เป็นตลาดการส่งออกขนาดใหญ่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การบริโภคหดตัว ทำให้การส่งออกทั่วโลกหดตัว ประเทศไทยเราออกก็เป็นประเทศที่เน้นการส่งออกหลัก จึงได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างไรก็ว่า นับว่าประเทศไทยยังโชคดีว่ามีจุดแข็งที่ความหลากหลาย ทำให้ยังพอประคองตัวได้ ไม่ได้เจ็บหนักจนล้มละลายเหมือนในหลายประเทศที่ฝาก GDP ทั้งหมดไว้กับสินค้าเพียงกลุ่มเดียว แต่เราจะฝากความหวังไว้กับการส่งออกไม่ได้อีกต่อไป เพราะทั่วโลกกำลังอ่อนแอ หากฝากความหวังไว้กับการส่งออก ก็เหมือนรอคอยความหวังจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย เราจึงต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เพื่อลดผลกระทบจากภายนอกประเทศ อีกทั้งโมเดล Thailand 3.0 ยังใช้การขับเคลื่อนด้วยทุนของต่างชาติเป็นหลัก ทำให้ไม่ว่าตัวเลขการส่งออกจะสูงเท่าไร คนไทยก็ผลตอบแทนในรูปค่าแรงเท่าๆเดิมอยู่ดี ทำให้ไม่สามารถหลุดกับดักรายได้ปานกลางออกไปได้
สำหรับการสร้างความเข้มแข็งจากภายในนั้น จะเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรม เพราะว่าหากเราใช้วิธีรับจ้างผลิตแบบเดิม ก็จะกลายเป็นว่า ทำน้อยก็ได้น้อย ทำมากก็ได้กลางๆ ซึ่งต่อไปนภายภาคหน้าเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะทำให้การบริโภคในประเทศหดตัว และพบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว เราจะมาทำน้อยก็ได้น้อย ทำมากก็ได้กลางๆ ไม่ได้แล้ว เราต้องปรับประเทศไปสู่ประเทศที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน เพราะนวัตกรรมจะทำให้เราทำน้อยแต่ได้มาก ดังนั้นช่วงนี้เราจะเห็นว่ารัฐบาลพยายามสนับสนุน Startup กันมาก เศรษฐกิจในโมเดล Thailand 4.0 จะเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และการบริการ โดยเน้นที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ควบคู่ไปกับสร้างสังคมที่มีจิตวิญาณของความเป็นผู้ประกอบการและความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่าย เมื่อชุมชนเราแข็งแรงแล้ว เราก็จะเชื่อมต่อกับ ASEAN และโลกต่อไป
สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-curve) ประกอบไปด้วย 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 คือ First s-curve ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ อันจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง อย่างไรก็ตาม First s-curve ไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมี New S-curve ควบคู่ไปด้วย
5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย
1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย
1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
4) อุตสาหกรรมดิจิตอล
5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
สำหรับโมเดลเศรษฐกิจ Thailand 4.0 นี้ อาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว ดูโอเวอร์และไม่น่าจะเป็นไปได้ อาจเป็นเพราะเรายังติดภาพและเคยชินกับระบบเศรษฐกิจในโมเดล Thaialnd 3.0 อย่างไรก็ตาม หากเราไม่ทำอะไรเลย หรือทำไม่สำเร็จ เราก็จะเข้าสู่ภาวะ “ทศวรรษแห่งความว่างเปล่า” ไปอีกยาวนาน แต่หากเราปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งนี้สำเร็จ เราก็จะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ดังนั้น เราจึงมีเพียง 2 ตัวเลือกคือ “Do or Die” หากไม่ทำอะไรเลย เราก็ตายอยู่ดี เพราะฉะนั้นลองสู้ดูสักครั้ง อย่างน้อยก็ทำให้เรายังมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับแหล่งที่มาของรูปภาพและรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ https://www.facebook.com/drsuvitpage/posts/1396306724009387
สุดท้ายนี้ ถ้าใครสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย ผมแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ครับ จักรกลธุรกิจไทย (From Siam to Thailand : Entrepreneurial Spirit of Immigrants in This Land of Opportunity) โดย นวพร เรืองสกุล
Share this: